เที่ยวอิหร่าน 12 วัน PART 3: ชีราซ เปอร์ซีโปลิส อิสฟาฮาน

หลังจาก PART 1 และ PART 2 ผมแยกจากคณะทัวร์แล้วอยู่ต่อเที่ยวเองคนเดียว หลังจากอยู่ที่เตหะรานต่ออีก 1 วัน ก็เดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่ชีราซครับ จากนั้นก็นั่งรถขึ้นไปเรื่อย ๆ ผ่านโบราณสถานเปอร์ซีโปลีส ขึ้นไปที่อิสฟาฮาน แวะหมู่บ้านระหว่างทางอีกเล็กน้อย แล้วกลับไปที่เตหะรานและก็บินกลับไทยครับ

เส้นทางนี้นักท่องเที่ยวนิยมเรียกกันว่า “classic Iran” และเป็นเส้นทางที่ทัวร์มักจะจัดกันครับ

5 ส.ค. 66 ชีราซ

ผมว่าชีราซเป็นเมืองที่เที่ยวสนุกครับ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ยุคโบราณ ตั้งแต่ยุคจักรวรรดิอะคีเมนิด หรือเปอร์เซียโบราณที่บุกไปตีกรีก ก็มีศูนย์กลางอยู่เปอร์ซีโปลีสใกล้ ๆ ชีราซ สมัยอาหรับเรืองอำนาจ ชีราซก็เป็นศูนย์กลางในย่านนี้เทียบเคียงกับแบกแดด ตัวเมืองผ่านการปกครองจากหลายยุคสมัย โดยยุคที่รุ่งเรืองที่สุดน่าจะเป็นยุคของราชวงศ์ซานด์​ (Zand dynasty) ที่กษัตริย์การิม ข่านเคยใช้ชีราซเป็นเมืองหลวง ก่อนที่ราชวงค์คาจาร์ (กอญัร) จะขึ้นสู่อำนาจและย้ายเมืองหลวงไปเตหะราน เสน่ห์อย่างหนึ่งของการเที่ยวในชีราซก็คือสถาปัตยกรรมที่ผสมปนกันของหลายยุคสมัยนี่แหละครับ

การเที่ยวในชีราซจนถึงอิสฟาฮานนี้ผมใช้บริการ driver guide ชื่อคุณไมค์ (สนใจติดต่อได้นะครับ มี contact อยู่) เขาคิดค่าบริการวันละ 50 USD สำหรับการเป็นไกด์ ส่วนค่าคนขับผมจ่ายเหมาไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ที่ไทย โดยรวมผมว่าเวิร์คนะครับ เขาอธิบายละเอียดมากในแต่ละจุด

มัสยิดนาซีรอัลมุลก์ (Nasir al-Mulk Mosque – The Pink Mosque)

ต้องบอกว่ามัสยิดนี้แหละครับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยากมาเที่ยวอิหร่านซักวัน ตั้งแต่สักสิบปีก่อนได้ ถ้าพูดถึงเที่ยวอิหร่านต้องมีภาพของมัสยิดนี้อยู่ เป็นภาพมัสยิดที่มีแสงลอดมาจากกระจก เห็นเป็นสีชมพูสวยงาม แต่ประเด็นสำคัญที่ควรทราบก็คือ ถ้าอยากเห็นแสงเยอะ ๆ ในห้อง ต้องไปหน้าหนาวนะครับ ผมก็เพิ่งทราบตอนไปถึงนี่แหละครับว่าถ้าไปหน้าร้อนแบบผม ถึงไปกี่โมงก็เห็นแสงสอดผ่านกระจกไม่กี่เมตร 😆

มัสยิดนี้สร้างโดยชนชั้นสูงในจังหวัดฟาร์ส (จังหวัดที่เมืองชีราซตั้งอยู่)​ ในสมัยคาจาร์ชื่อ Mirza Hasan Ali หรืออีกชื่อว่านาซีรอัลมุลก์ เหมือนชื่อมัสยิดนี่แหละครับ เท่าที่อ่านประวัติเหมือนเขาสร้างให้เป็นที่ฝังศพพ่อและตระกูลของเขา สร้างเสร็จปีค.ศ. 1888 และต่อมาก็อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิและเปิดให้เข้าชมในปัจจุบัน

บรรยากาศภายนอกมัสยิด อาจไม่ได้ต่างจากมัสยิดอื่น ๆ เท่าใดนัก
หน้าต่างกระจกสี (stained glass)
เข้าไปภายในมองมาก็จะเป็นแสงส่องผ่านกระจกเข้ามาแบบนี้แหละครับ นักท่องเที่ยวก็มักจะไปถ่ายรูปกับแสงกัน

เรื่องกระจกสีนี่ ผมก็ไม่แน่ใจว่าสรุปยังไงนะครับ อ่านจากบางแหล่งก็บอกสีนี้มานานแล้ว แต่บางแหล่งก็บอกว่าแต่ก่อนก็สีธรรมดานี่แหละ เพิ่งมาเปลี่ยนสีเอาปีค.ศ. 1969 ส่วนในด้านการตกแต่งอื่น ๆ จะเห็นเอกลักษณ์ของราชวงศ์คาจาร์อยู่พอสมควรคือการใช้กระเบื้องที่มีลวดลายแบบยุโรป (ไกด์ผมเรียกว่า the Europe lover 😆) หากไปที่อีกด้านหนึ่งของมัสยิดจะมีอาคาร ข้างในมีบ่อน้ำที่มีวัว (cow well) เอาไว้ลากตักน้ำจากบ่อน้ำขึ้นมาไว้ใช้

Zinat Al-Molk Historical House

จริง ๆ ผมตั้งใจจะไปที่บ้านตระกูล Qavam (Qavam house) เป็นอดีตบ้านของเศรษฐีในสมัยราชวงศ์คาจาร์เช่นกัน บ้านนี้มีสวนชื่อ Narenjestan garden (garden of sour orange) เห็นคุณปั๊ปแนะนำว่าสวย ต้องไป แต่ปรากฏว่าวันนั้นสวนปิด ไปไม่ได้ ก็เลยได้ไปพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่เคยเป็นบ้านของตระกูล Qavam เช่นกัน มีทางเดินใต้ดินเชื่อมระหว่าง Qavam house กับอาคารนี้

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ไกด์เล่าให้ฟังว่าการออกแบบอาคารในยุคนั้นจะใช้วิธีแบบนี้หมด คือจะใช้การหักมุมของทางเดินเป็นตัวกั้นสายตา โดยบ่าวไพร่จะรออยู่ตรงบริเวณที่เป็นที่ซื้อตั๋วในปัจจุบัน แต่จากจุดนั้นจะเข้าไปในบ้านต้องผ่านทางเดินที่มีการหักมุมเล็กน้อย ซึ่งบ่าวไพร่จะไม่สามารถเดินเข้าได้ ดังนั้นเขาจะมองเข้าไปไม่เห็นว่าข้างในเป็นอย่างไร
บรรยากาศของบ้าน และสวนแบบเปอร์เซีย
มีห้องกระจกแบบนี้หลายห้องเหมือนกันครับ
สวนของบ้านนี้ ถ้าเป็นสวนของบ้านใหญ่จะใหญ่กว่านี้มากครับ
ภายในมีพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งแสดงบุคคลสำคัญของจังหวัดฟาร์ส
ระหว่างเดินออกจากพิพิธภัณฑ์เจอชาวอิหร่านโบกมือทักทาย
ใกล้ ๆ กันจะมีซอยที่มีงานศิลปะสวย ๆ หลายชิ้นเหมือนกันครับ
ชิ้นนี้ไกด์บอกดังสุด ผมลืม story แล้วว่าเป็นมาอย่างไร

Khan School

เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งสมัยซาฟาวิด แรกเริ่มเป็นโรงเรียนทางศาสนาที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในแถบนี้ ต่อมาเหมือนจะใช้ทำอย่างอื่น ปัจจุบันไกด์บอกก็ยังใช้อยู่ แต่ผมฟังไม่ค่อยออกว่ายังใช้ทำอะไรบ้าง

ฟาซาดกระเบื้องสวยงาม
พอดีไกด์สนิทกับคนเฝ้า เลยขอเขาขึ้นมาดูข้างบนได้ แต่สภาพข้างบนเหมือนไม่ได้ใช้งานมานาน
เด็กแถวนั้น ขอเขาถ่ายรูปมา

กลุ่มอาคารวาคิล (Vakil complex)

ถัดจากโรงเรียนมาไม่ไกลจะมาถึงส่วนที่เรียกว่า Vakil complex ซึ่งประกอบด้วยสถานที่ท่องเที่ยว 3 แห่ง คือ 1. ตลาดวาคิล (Vakil bazaar) 2. มัสยิดวาคิล (Vakil mosque) 3. โรงอาบน้ำวาคิล (Vakil bathhouse) จริง ๆ เมืองเก่าในอิหร่านจะมีกลุ่มอาคารแบบนี้ทั้งหมด ถ้าเป็นเมืองหลวงก็จะมีพระราชวังเพิ่มมาและมัสยิดก็จะมีสองแห่ง แห่งหนึ่งให้กษัตริย์ใช้ อีกแห่งให้ประชาชนใช้ จะเห็น pattern แบบนี้ที่อิสฟาฮานเช่นกัน

Vakil complex นี้สร้างโดยกษัตริย์การิม ข่าน ในสมัยราชวงศ์ซานด์ (ศตวรรษที่ 18) ที่ย้ายเมืองหลวงมาชิราซ ตอนที่สร้างเมืองพระองค์ได้แรงบันดาลใจจากจัตุรัสนัคชิญะฮาน (Naqshe Jahan Square) ในอิสฟาฮาน เลยสร้างเมืองด้วย pattern เดียวกัน มีกลุ่มอาคาร Vakil complex นี้อยู่ใกล้ ๆ กับป้อมการิม ข่าน (ซึ่งก็คือวัง) แต่น่าเสียดายที่ในสมัยราชวงศ์คาจาร์มีการทำลายอาคารที่สร้างในสมัยราชวงศ์ซานด์จำนวนมาก (เพราะเขาเกลียดกัน)

ตลาดวาคิล (Vakil Bazaar)

ผมเริ่มเดินทางจากตลาดก่อน แต่โดยรวมก็ไม่ต่างจาก bazaar อื่น ๆ ที่ไปมาเท่าใดนัก เลยไม่ได้ลงรูปอะไรเยอะ แต่จริง ๆ ไกด์อธิบายเยอะเหมือนกันครับ

ข้าวของเครื่องใช้ในตลาด
ทางเดินไปมัสยิด

มัสยิดวาคิล (Vakil Mosque)

เดินมาจากตลาดไม่ไกลก็จะมาถึงมัสยิดวาคิล

ประตูทางเข้า ใหญ่และสวยงามดีครับ
บริเวณรอบ ๆ
ห้องสวดมนต์ (prayer hall หรือ shabestans) ภายในประกอบด้วยเสาแกะสลักจำนวนมาก โดยส่วนตรงกลางจะมีการประดับกระเบื้องและอักษรวิจิตร
เสาแกะสลัก ผมลืมจำนวนต้นแล้ว แต่เท่าที่ฟังจากไกด์มา ทุกตัวเลขมี story หมด ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับศาสนา ผมเลยจำไม่ค่อยได้เหมือนกันครับว่าที่ไหนมีอะไรเท่าไหร่ เพราะอะไร
เข้าใจว่าเป็นหออะซาน (Minarets) หรือหอที่เอาไว้เรียกคนมาสวดมนต์ สวยดีครับเลยถ่ายมา
ร้านขายเครื่องเทศบริเวณทางเดินไปยังป้อมการิมข่าน

ป้อมการิม ข่าน (Karim Khan Citadel)

เดินมาไม่ไกลก็จะมาถึงป้อมการิม ข่าน ซึ่งจริง ๆ ก็คือวังของกษัตริย์การิม ข่าน แต่เนื่องจากเวลาน้อย เลยได้แต่มองจากข้างนอกครับ แต่เท่าที่ฟังจากไกด์เขาบอกข้างในก็ไม่ได้อลังการเหมือนข้างนอกเท่าไหร่ เน้นเป็นสวนมากกว่า

ป้อมการิม ข่านจากภายนอก
เดิน ๆ อยู่มีเด็กมาขอให้ถ่ายรูปให้เลยถ่ายให้
บอกพ่อแม่เขาว่าเดี๋ยวส่งรูปไปให้ทาง Telegram พอส่งไปเขาก็ดูดีใจ มีบอกไปครั้งหน้าขอเชิญไปกินข้าวที่บ้าน

Pars Museum

เดิมเป็นอาคารรับรองแขกของกษัตริย์การิม ข่าน และได้ใช้เป็นที่ฝังศพของพระองค์เอง ซึ่งต่อมาพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด ข่าน (ราชวงศ์คาจาร์) ก็มาขุดศพไปฝังไว้ที่บันไดที่พระราชวังโกเลสตานเพื่อจะได้เหยียบทุกวันเวลาไปทำงาน (อย่างที่บอกว่าเขาเกลียดกัน) แต่ต่อมาก็มีการย้ายพระศพกลับมาที่นี่เหมือนเดิมนะครับ

หลังจากนั้นก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในมีคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยมือชิ้นสำคัญหลายเล่ม ภายนอกเป็นสวนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยซาฟาวิด (เป็นสวนอยู่เดิม การิม ข่านมาสร้างอาคารเพิ่มในสวน)

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์
คัมภีร์อัลกุรอานเขียนมือเล่มนี้สำคัญที่สุดในพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเป็นผลงานของเจ้าชายมองโกลในสมัยศตวรรษที่ 9 ที่เปอร์เซียตกเป็นของมองโกล (ราชวงศ์ตีมูร์ – Timurid) แต่กษัตริย์ซึ่งมาจากมองโกลก็เปลี่ยนศาสนาตนเองเป็นอิสลามเพื่อให้คนแถวนั้นให้การยอมรับ

สวนอีแรม (Eram Garden)

เป็นสวนตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 12 และก็ได้รับการพัฒนาและเปลี่ยนเจ้าของเรื่อยมา จนมาถึงยุคคุณนาซีรอัลมุลก์ (คนเดียวกับที่สร้างมัสยิดนาซีรอัลมุลก์) ก็มีการสร้างอาคารตรงกลาง (pavillion) ขึ้น ต่อมาสวนนี้ก็ตกเป็นของมหาวิทยาลัยชีราซ และได้เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก

ภายในเป็นส่วนแบบเปอร์เซียและมีอาคารอยู่ตรงกลาง ไกด์เล่าให้ผมฟังว่าสวนเปอร์เซียมักมีส่วนประกอบสำคัญ 4 อย่าง 1. เป็นส่วนสี่เหลี่ยมและแบ่งออกเป็น 4 ส่วน 2. แต่ส่วนมีน้ำตรงกลาง ผมลืมแล้วว่าข้อ 3 และ 4 คืออะไร จำได้แค่ว่าหนึ่งในสวนแบบเปอร์เซียที่ทั่วโลกรู้จักกันเยอะที่สุดก็คือทัชมาฮาลที่อินเดียนั่นเอง

สวนแบบเปอร์เซียที่สวนอีแรม
รอบ ๆ ก็เป็นสวนที่มีต้นไม้เยอะ ๆ หลากหลายชนิด แต่พอดีผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องต้นไม้เลยไม่รู้จักเหมือนกัน

ทะเลสาบมาฮาร์ลู (Maharloo Lake – Pink Lake)

เป็นทะเลสาบเกลือไม่ไกลจากเมืองชิราซ ผมอ่านก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันครับว่าเป็นสีชมพูเพราะอะไร แต่ Wikipedia บอกเป็นจากปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ (red tide) ซึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นจำนวนมากของสาหร่ายเซลล์เดียว แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันครับว่าทำไมมาเกิดที่นี่ อย่างไรก็ดีก็สวยดีครับ

เนื่องจากตอนนี้เป็นหน้าร้อน น้ำแห้งเกือบหมด ลงไปเดินย่ำเกลือได้เลย ถ้าเป็นฤดูอื่นอาจมองเห็นได้จากใกล้ ๆ ถนน ไม่ต้องลงไปเดินก็ได้

น้ำไม่ได้แห้งสนิท เวลาเหยียบ ๆ ลงไปบางจุดก็จะมีซึมขึ้นมาบ้างครับ
แต่โดยรวมก็เป็นทะเลเกลือแบบนี้แหละครับ

เกิดเหตุเล็กน้อยตอนที่ผมไปที่ทะเลสาบนี้ครับ คือไกด์เขาก็หวังดีอยากให้ได้เห็นใกล้ ๆ ก็เลยขับรถพาลงไปในทะเลสาบ สรุปว่ารถติดหล่มครับ ยาวเลยคราวนี้ ตามคนมาช่วย คนที่มาช่วยก็ติดหล่มไปด้วยอีกคน สรุปไกด์ก็เสียหายหนักเหมือนกันครับ 😅

รถคันนี้มาขายบริการยกรถขึ้นจากหล่ม ตอนแรกไกด์ไม่ยอม แต่ผ่านไปหลายชั่วโมงสุดท้ายก็ได้ยอมครับ
ระหว่างนั้นผมเลยถือโอกาสเดินเข้าไปดูตรงน้ำใกล้ ๆ ก็เป็นสีชมพูแบบนี้แหละครับ เหมือนต่างดาวดีครับ
บรรยากาศบริเวณทะเลสาบสีชมพู
จริง ๆ บรรยากาศดี สงบ และวิวสวยดีครับ
ชมพระอาทิตย์ตกระหว่างเดินกลับไปรถ
รถที่ติดหล่มและคุณไมค์ (ไกด์) ที่รอครอบครัวมาช่วย

6 ส.ค. 66 เปอร์ซีโปลิส (Persepolis)

จริง ๆ แพลนเดิมคือจะไปสุสานฮาเฟซเมื่อวาน แต่ว่าเกิดเหตุที่ทะเลสาบเสียก่อนก็เลยไม่ได้ไป วันนี้ก็เลยมาเก็บครับ จากนั้นก็เดินทางต่อไปเปอร์ซีโปลิสและเนโครโปลิส ที่เหลือก็คืออยู่บนรถยาว ๆ ไปจนถึงอิสฟาฮานครับ

สุสานฮาเฟซ (Tomb of Hafez)

ฮาเฟซเป็นกวีเอกของชาวอิหร่าน เกิดในเมืองชีราซ เนื่องจากบทกวีที่เขาแต่งเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจของหลายยุคหลายสมัย สุสานของเขาจึงได้รับการเคารพและปรับปรุงเรื่อยมา ตัวผมเองไม่เคยอ่านงานของฮาเฟซ แต่ไกด์ก็เล่าให้ฟังอยู่ว่าเขาชอบมาก ไกด์พยายามบรรยายกวีให้ฟัง แต่ผมไม่เข้าใจ 555 เท่าที่อ่านดูเหมือนชาวอิหร่านจะชอบงานของฮาเฟซกันมากในเชิงปรัชญาการใช้ชีวิต บางแหล่งก็บอกว่าเป็นหนังสือที่ต้องมีทุกบ้าน คล้าย ๆ คัมภีร์อัลกุรอาน

ตัวอาคารที่เป็นสุสานของฮาเฟซ
โลงศพของฮาเฟซ

เปอร์ซีโปลิส (Persepolis)

จากตัวเมืองชีราซประมาณ 1 ชม. เราก็มาถึงเปอร์ซีโปลิส (Persepolis) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมรดกโลกของยูเนสโก เป็นโบราณสถานตั้งแต่ยุคสมัยจักรวรรดิอะคีเมนิด ซึ่งถือได้ว่าเป็นจักรวรรดิเปอร์เซียแห่งแรก (ก่อนหน้านี้เป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่กันหลวม ๆ จนมารวมกันเป็นเปอร์เซียในยุคนี้) โดยพระเจ้าไซรัสที่ 2 หรือไซรัสมหาราช แต่คนที่มาสร้างเมืองตรงนี้คือพระเจ้าดาริอุสมหาราชกษัตริย์องค์ที่ 4 ของจักรวรรดิ (พระบิดาของกษัตริย์เซอร์เซสที่ 1 ซึ่งถ้าท่านใดเคยดูหนัง 300 ก็คือกษัตริย์เปอร์เซียคนนั้นแหละครับ 😆)

คำว่าเปอร์ซีโปลิส มาจาก เปอร์ซี (ชาวเปอร์เซีย) + โปลิส (เมือง) รวมเป็นเมืองของชาวเปอร์เซีย เป็นคำที่ชาวกรีกใช้เรียกเมืองนี้ นักโบราณคดีส่วนหนึ่งเชื่อว่าเปอร์ซีโปลิสเคยเป็นเมืองหลวงของอะคีเมนิด แต่บางส่วนก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเมืองพิธีกรรมมากกว่าไม่ใช่เมืองหลวง เพราะอยู่ค่อนข้างใกล้จากที่อื่น และรอบ ๆ ก็ดูไม่ได้มีร่องรอยความเป็นเมืองอะไร โดยเป็นเมืองที่ใช้ประกอบพิธีในช่วงโนรูซ (Noruz) หรือปีใหม่ของชาวเปอร์เซีย ซึ่งตรงกับ Spring equinox (วันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน) โดยเมืองประเทศราชต่าง ๆ จะนำเครื่องบรรณาการต่าง ๆ มาถวายให้กษัตริย์ ณ​ เปอร์ซีโปลิสแห่งนี้

เปอร์ซีโปลิสถูกทำลายลงโดยเพลิงไหม้ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชของกรีกไปบุกเปอร์เซีย นักโบราณคดีไม่แน่ใจว่าการทำลายนี้เกิดโดยอุบัติเหตุ หรือเป็นความตั้งใจที่จะแก้แค้นที่เปอร์เซียเคยไปเผาอะโครโปลิสที่เอเธนส์ อย่างไรก็ดีหลังการบุก เล็กซานเดอร์ก็ขนสมบัติมีค่าไปหมด หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งร้าง

เกร็ดเล็กน้อย: พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (กษัตริย์องค์สุดท้าย) ได้ใช้เปอร์ซีโปลิสเป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 2,500 ปีอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการเฉลิมฉลองที่สิ้นเปลืองอย่างมาก เป็นหนึ่งในชนวนให้เกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านในเวลาต่อมา

เพื่อความเข้าใจภาพรวมของสถานที่ต่าง ๆ ในนี้ ขออนุญาตใช้ภาพจากคุณ Gatis Pāvils ประกอบ (ที่มา: Wondermondo)

จุดที่เด่น ๆ จริง ๆ มีดังนี้

  • Great staircase บันได้ทางขึ้น
  • Gate of all nations (คำว่า prophylaea ในภาพด้านบน) เป็นประตูเข้าสู่เปอร์ซีโปลิส
  • Apadana palace เป็นสถานที่ประกอบพิธีหลักของที่นี่
  • Palace of xxx เป็นวังส่วนตัวของกษัตริย์ต่าง ๆ
  • Queen’s apartment ที่อยู่ราชินี
  • Tresury ห้องเก็บสมบัติ ไม่เหลืออะไรแล้ว เหลือแค่หลักฐานการจ่ายเงิน แสดงให้เห็นว่าคนที่มาสร้างเปอร์ซีโปลิสไม่ใช่ทาส แต่เป็นแรงงานที่ได้รับค้าจ้าง
  • Hall of 100 columns เป็นที่ไว้รับรองแม่ทัพ
  • Hall of 32 columns ไม่ทราบว่าเอาไว้ทำอะไร
Great staircase บันไดทางขึ้นไปสู่เปอร์ซีโปลิส ทั้งบริเวณนี้จงใจสร้างให้สูงขึ้นมาจากระดับพื้น เพื่อให้ผู้มาเยือนรู้สึกเหมือนกำลังขึ้นไปบนสวรรค์
Gate of all nations ทางเข้านคร ความยิ่งใหญ่ของเปอร์เซียในยุคนั้นเปรียบเหมือนทุกรัฐ (all nations) จะต้องเข้ามาถวายบรรณาการ มีข้อความแกะสลักชื่อของกษัตริย์ดาริอุสเป็น 3 ภาษาหลักในยุคนั้น เปอร์เซีย บาบิโลเนีย อีแลม
สัตว์ในเทพนิยายที่ gate of all nations ผมลืมแล้วว่าตัวอะไร
รูปแกะสลักนูนต่ำ ส่วนบนคือก่อนการขุดค้น ส่วนล่างคือส่วนที่เคยจมอยู่ในดิน ไกด์บอกว่าในยุคอาหรับมีการทำลายรูปเคารพของศาสนาอื่น ก็เลยมีการทำลายส่วนบน (มองเห็น) แต่ส่วนล่างรอดมาได้เพราะจมอยู่ในดิน
น่าจะบริเวณทางเข้า
อักษรแกะสลัก บรรยายว่าได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้สร้างนครเปอร์ซีโปลิสนี้ขึ้น (ไม่ได้อยากสร้างเองนะ สวรรค์บอกให้สร้าง)
น่าจะส่วนที่เป็นวังของกษัตริย์ซักองค์
น่าจะส่วนที่เป็นวังของกษัตริย์ซักองค์
ซากของ Hall of 100 columns เห็นร่องรอยของเสาอยู่กลาย ๆ
รูปแกะสลักนูนต่ำบริเวณบันไดทางขึ้นไป Apadana palace แสดงทูตจากนครรัฐต่าง ๆ และเครื่องบรรณาการที่พวกเขานำมาถวายให้กษัตริย์
ไกด์บรรยายให้เห็นว่าเขาเก็บรายละเอียดดี ทั้งในด้านสีหน้าและกริยาต่าง ๆ ที่แต่ละคนทำ เช่นคนนี้กำลังดันแกะ เขาก็ทำหน้าต่างไปจากคนข้างหน้าที่ไม่ได้ออกแรงอะไร
อีกฝั่งของภาพแกะสลักเป็นรูปแกะสลักของแม่ทัพชั้นนำในเปอร์เซีย ที่มาร่วมพิธีการเช่นกัน

Naqsh-e Rostam หรือนครแห่งความตาย เนโครโปลิส (Necropolis)

จริง ๆ ก็คือสุสานของอดีตกษัตริย์ในสมัยอะคีเมนิด 4 พระองค์ โดยด้านล่างจะมีรูปแกะสลักในสมัยจักรวรรดิซาเซเนียน (ประมาณศตวรรษที่ 5) มาแกะสลักเพิ่มเข้าไป ซาเซเนียนเป็นยุคที่เปอร์เซียกลับมามีอำนาจอีกครั้งหลังโดนกรีกตีแตกไป เรียกว่าจักรวรรดิเปอร์เซียที่ 2 (the second persian empire) ก่อนจะโดนอาหรับเข้ามาตี และเกิดความโกลาหลเปลี่ยนราชวงศ์หลายรอบจากหลายรัฐแถบนั้นตามมา จนเริ่มมาสงบอีกครั้งในยุคซาฟาวิด (the third persian empire)

เนโครโปลิส มองจากไกล ๆ
หลุมฝังศพของกษัตริย์อะคีเมนิดจะอยู่ด้านบน โดยมีภาพแกะสลักของซาเซเนียนอยู่ด้านล่าง

ถ้าคู่ปรับสำคัญสมัยอะคีเมนิดของเปอร์เซียคือกรีก คู่ปรับของซาเซเนียนก็คือโรมันครับ หนึ่งในภาพแกะสลักจะเป็นเรื่องราวการเอาชนะจักรวรรดิโรมันและจับจักรพรรดิวาเลเรียนมาเป็นตัวประกัน แต่ก็มีภาพแกะสลักถึงชัยชนะอื่น ๆ เช่นกันครับ

หลุมฝังศพของกษัตริย์อะคีเมนิด มองจากไกล ๆ
อาคารแถวนั้น
ภาพแกะสลักในสมัยซาเซเนียน
ศาสนสถานของศาสนาโซโรแอสเตอร์
บรรยากาศแถวนั้น สวยดีครับ

หลังจากนั้นเราก็อยู่บนรถกันต่ออีกกว่า 5 ชั่วโมง ก็ไปถึงอิสฟาฮาน

The Abbasi Hotel

สำหรับที่พักในคืนนี้ ผมพักที่โรงแรมอับบาสซี่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เพราะในอดีตเคยเป็น สถานีคาราวาน (Caravanserai) หรือจุดพักแรมของกองคาราวาน ตัวอาคารที่ได้รับการก่อสร้างในยุคซาฟาวิด (ราว 400 ปีก่อน)

บรรยากาศหรูหราคลาสสิคดีครับ อันนี้แถวห้องพัก
สวนเปอร์เซียทางเดินมาห้องพัก
บริเวณสวนเปิดเป็นร้านอาหาร คนภายนอกเข้ามาทานได้ แต่คนเยอะมาก ๆ สั่งไปกินบนห้องดีกว่า

จริง ๆ ส่วนอื่น ๆ ของโรงแรมก็สวยนะครับ แต่เพื่อไม่ให้รูปเยอะไปเลยเอาเท่านี้ดีกว่า

7 ส.ค. 66 อิสฟาฮาน (Isfahan)

“อิสฟาฮานคือครึ่งโลก Isfahan is half the world” น่าจะเป็นโควทที่แสดงความยิ่งใหญ่ในอดีตของเมืองนี้ได้เป็นอย่างดี หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างครึ่งหนึ่งในโลกอยู่ที่นี่หมดแล้ว

อิสฟาฮานเป็นเมืองที่อยู่มานานมากเช่นกันครับ พื้นที่แถบนี้มีคนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนยุคอะคีเมนิด แต่ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งแรกเกิดในยุคราชวงศ์เซลจุกและราชวงส์ซาฟาวิด ที่ได้ใช้อิสฟาฮานเป็นเมืองหลวง ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างมากในสองยุคนี้

เกร็ดประวัติศาสตร์เล็กน้อย หลังยุคซาเซเนียน เปอร์เซียตกเป็นของอาหรับ หลังจากอาหรับก็เป็นเติร์ก หรือราชวงศ์เซลจุกที่ย้ายเมืองหลวงมาอิสฟาฮานนี่แหละครับ หลังจากนั้นก็เป็นมองโกล และตีกันไปกันมาอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับไปเป็นเปอร์เซียอีกครั้งในยุคซาฟาวิด ในยุคซาฟาวิดนี้ กษัตริย์ที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้เปอร์เซียคือกษัตริย์ชาห์อับบาสที่ 1 แห่งเปอร์เซีย หรือพระเจ้าอับบาสมหาราช (Abbas I the Great) ซึ่งในยุคนี้เองที่มีการย้ายเมืองหลวงมาอิสฟาฮานเป็นครั้งที่สอง และมีการสร้างอาคารสำคัญ ๆ หลายอย่างในเมืองนี้ โดยเฉพาะจัตุรัสนัคชิญะฮาน (Naqshe Jahan Square) และอาคารรอบ ๆ ทั้งหลาย

อาสนวิหารวองค์ (Vank Cathedra)

ผมและไกด์ (คุณไมค์คนเดิม) เริ่มต้นวันที่อาสนวิหารวองค์ ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์ไม่กี่แห่งในอิหร่าน เป็นอาสนวิหารที่ตั้งอยู่ในย่านที่เรียกว่า New Julfa ซึ่งเป็นย่านที่กษัตริย์ชาห์อับบาสจัดสรรไว้ให้ชาวอาร์เมเนียอาศัยอยู่ เนื่องจากสมัยนั้นชาวอาร์เมเนียถูกรุกรานโดยออตโตมันเลยลี้ภัยกันมา ชาวอาร์เมเนียมีความเชี่ยวชาญทางการค้าและมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก กษัตริย์ชาห์เลยรับดูแลและจัดสรรพื้นที่ให้ รวมถึงให้อิสระในการนับถือศาสนา

ภายนอกของอาสนวิหารวองค์ เป็นโบสถ์คริสต์ที่มีความผสมศิลปะอิสลาม
หอนาฬิกานี้ ถ้าซูมเข้าไปใกล้ ๆ จะเห็นว่ามีคำว่า S.A.B. Bangkok อยู่ครับ เคยอ่านเจอว่าห้างนี้อยู่ที่ไทย ซื้อขายนาฬิกาในยุครัตนโกสินทร์ มีความสัมพันธ์กับชาวอาร์เมเนีย เลยเป็นสาเหตุให้เขาเอานาฬิกาจากกรุงเทพฯ มาติดตรงนี้
ภายในอาสนวิหาร เต็มไปด้วยภาพเขียน อันที่ใหญ่ที่สุดเป็นเรื่องราวของอดัม-อีฟ
ภายใต้โดมของอาสนวิหาร
ฝั่งตรงข้ามของอาสนวิหารจะเป็นห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับชาวอาร์เมเนียน
เครื่องแต่งกายของชาวอาร์เมเนียน จริง ๆ จุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอาร์เมเนียนคือเป็นผู้นำเครื่องพิมพ์เข้ามาในอิหร่านเป็นคนแรก พิมพ์หนังสือเล่มแรก
สลักบทสวดไว้บนเส้นผม จะอ่านต้องส่องกล้องอ่าน
แสดงสิ่งของเครื่องใช้และวิถีชีวิตชาวอาร์เมเนียน

จัตุรัสนัคชิญะฮาน (Naqshe Jahan Square or Imam square)

จัตุรัสนี้เป็นจัตุรัสกลางเมืองที่ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก สร้างโดยพระเจ้าชาห์อับบาสมหาราช ซึ่งต้องการย้ายเมืองหลวงมาที่อิสฟาฮาน วิกิพีเดียบอกสาเหตุที่ย้ายมี 2 อย่าง คือ 1. ย้ายหนีการรุกรานจากออตโตมันและอุซเบค 2. ย้ายมาใกล้อ่าวเปอร์เซียมากขึ้นเพราะการค้าทางทะเลเริ่มคึกคัก เมื่อย้ายเมืองหลวงพระองค์จึงได้สร้างจัตุรัสนี้ขึ้นเพื่อรวบอำนาจเข้ามาอยู่ศูนย์กลางจุดเดียว ทั้งทางด้านศาสนาและการปกครอง

ภาพจาก Google Maps แสดงจัตุรัสนัคชิญะฮาน

อาคารสำคัญในจัตุรัสนี้มี 4 อย่าง

  1. พระราชวังอาลีคาปู (Aali Qapu Palace)
  2. มัสยิดชาห์ (Shah Mosque) ซึ่งเป็นมัสยิดสำหรับประชาชน
  3. มัสยิดชีคห์ ลอตฟุลเลาะห์ (Sheikh Lotfollah Mosque) ซึ่งเป็นมัสยิดสำหรับผู้หญิงในราชสำนัก
  4. Qeysarie Gate ซึ่งเป็นประตูเพื่อไปสู่ตลาดใหญ่ (grand bazaar) แต่ในทริปนี้ผมไม่ได้ไปดู

โดยจะมีอาคาร 2 ชั้นอยู่รอบ ๆ จัตุรัสและเชื่อมทั้ง 4 อาคารเข้าด้วยกัน ผมไม่แน่ใจว่าสมัยก่อนอาคารเหล่านี้ใช้ทำอะไร แต่ปัจจุบันเป็นร้านขายของต่าง ๆ

มัสยิดชาห์ (Shah Mosque)

เป็นมัสยิดสำหรับประชาชน มีโดมที่ใหญ่ที่สุดในเมือง ใช้เวลาก่อสร้าง 18 ปี สร้างเสร็จหลังพระเจ้าชาห์อับบาสสวรรคตได้ไม่กี่เดือน จุดเด่นบางประการของมัสยิดนี้เช่น 1. พอเราเดินเข้าไปจะมีการหักออกขวาเล็กน้อย เพื่อให้แนวของอาคารไปตรงกับทิศทางที่หันไปยังเมืองเมกกะ ตอนที่ทำพิธีสวดหรือละหมาด 2. โดม (ตอนนี้ซ่อมอยู่) มี 2 ชั้น ชั้นนอกเพื่อให้ยิ่งใหญ่ แต่ต้องมีชั้นในเพื่อให้เกิดฟังก์ชันในการสะท้อนเสียง ทำให้เสียงดังขึ้นได้เกิดเป็นเหมือนลำโพงโดยตัวอาคาร

ทางเข้ามัสยิดชาห์
มูการ์นัส (Muqarnas) บริเวณทางเข้า สวยดีครับ
เข้ามาด้านในจะพบอีวาน (Iwan) ยิ่งใหญ่มาก อาคารด้านนี้แหละครับที่มีโดมอยู่ เห็นปิดซ่อมเล็ก ๆ ในภาพ เข้าไปด้านในจะมีโถงที่มีสะท้อนเสียงได้
รอบ ๆ นี้เคยใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนา

พระราชวังอาลีคาปู (Aali Qapu Palace)

เป็นวังของพระเจ้าชาห์อับบาส มีทั้งหมด 6 ชั้น แต่ส่วนที่เราขึ้นไปดูได้ก็มีไม่เยอะเท่าไหร่ มีตรงระเบียงชั้นบนที่ข้างในจะเป็นห้องฟังดนตรี

พระราชวังอาลีคาปู ถ่ายจากสระน้ำตรงกลางจัตุรัส
ระเบียงของวัง พื้นที่นี้กษัตริย์จะใช้เป็นที่ชมกิจกรรมตรงสนามกลางจัตุรัส เช่นการแข่งกีฬาโปโล ที่เห็นเป็นหลุมตรงกลางคือนี้เป็นสระน้ำ สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า เอาน้ำขึ้นมาบนนี้ก็นับได้ว่า luxury พอควร
บรรยากาศของจัตุรัสนัคชิญะฮาน มองจากพระราชวังอาลีคาปู
มัสยิดชีคห์ ลอตฟุลเลาะห์ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม สังเกตว่าโดมก็ไม่ตรงกับประตูอีกเช่นกัน เพราะต้องหักให้หันไปทางนครเมกกะ
ร้านขายของรอบ ๆ จัตุรัส

มัสยิดชีคห์ ลอตฟุลเลาะห์ (Sheikh Lotfollah Mosque)

เป็นมัสยิดส่วนตัวของผู้หญิงในราชสำนัก (ฮาเรมของกษัตริย์) เห็นบอกมีทางเดินใต้ดินให้เดินมาจากพระราชวังโดยไม่ต้องให้ใครเห็นด้วย โดยรวมในแง่ความสวยงามอลังการอาจน้อยกว่ามัสยิดชาห์อยู่ครับ

ทางเข้ามัสยิดชีคห์ ลอตฟุลเลาะห์
ภายใต้โดม อันนี้เหมือนจะมีชั้นเดียว
ห้องสวดก็ไม่ใหญ่มาก มีอีกชั้นเป็นชั้นใต้ดิน ผมลืมแล้วว่าเอาไว้ทำอะไร

Bazaar

ตลาดที่อยู่รอบ ๆ จัตุรัส อันนี้โดยรวมก็เหมือน bazaar อื่น ๆ ผมเลยไม่ได้ถ่ายมามากนัก

บรรยากาศภายในตลาด
แอบถ่ายคุณลุง
คุณไมค์ (ไกด์) และภรรยา
ร้านอาหารเที่ยงที่เราไปกินกัน ผมจำชื่อร้านไม่ได้ แต่การตกแต่งน่าสนใจดีครับ
พนักงานที่ร้าน ขอให้ถ่ายรูปให้หน่อย
เดินออกมาจากจัตุรัสไม่ไกล จะเป็นโซนแลกเงิน มีคนมาซื้อขายเงินกันมากมาย ไกด์บอกว่าโดยรวมให้ราคาดีกว่าซื้อขายกับธนาคาร

พระราชวังเซเฮลโชตุน (Chehel Sotoun Palace)

หรือที่รู้จักกันในนามพระราชวัง 40 เสา ซึ่งจริง ๆ มี 20 เสา แต่รวมที่สะท้อนในน้ำด้วยเลยเป็น 40 เสา สร้างโดยพระเจ้าชาห์อับบาสที่ 2 (คนละพระองค์กับอับบาสที่ 1 ซึ่งเป็นคนสร้างเมือง) โดยสร้างไว้เป็นวังสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและรับรองแขก

เริ่มเห็นเป็น 40 เสาแล้ว
เนื่องจากเคยเกิดเพลิงไหม้ครั้งหนึ่ง จึงมีรอยดำ ๆ อยู่ตามจุดต่าง ๆ
ข้างในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง (fresco) แสดงเหตุการณ์สำคัญหลายภาพ ในภาพนี้เป็นภาพของพระเจ้าชาห์อับบาสที่ 1 ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ผ่านการบูรณะมาแล้ว โดยเขาเก็บสีแบบ original ไว้บางส่วน สังเกตกล่องสีเหลี่ยมที่มุมซ้ายล่างของภาพ (กางเกงสีแดง ๆ) ตรงนั้นคือสีแบบ original ครับ

หลังจากนั้น ผมก็เดินทางต่อไปยังทะเลทรายวาร์ซาเนห์ Varzaneh Desert ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 1 ชม.

ทะเลทรายวาร์ซาเนห์ (Varzaneh Desert)

จริง ๆ เมืองนี้มีอะไรให้เที่ยวหลายอย่างอยู่นะครับ แต่ผมไปถึงค่อนข้างจะเกือบเย็นแล้ว เลยไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่ ไปดูทะเลทรายแล้วก็กลับเลย คือตอนไปถึงทะเลทรายก็แทบไม่มีคนอยู่แล้ว จริง ๆ ถ้ามาแบบมีกิจกรรมอื่น ๆ ทำอาจจะเวิร์คกว่านี้

มาถึงมีเด็กเดินเข้ามาหา คุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ดูเหมือนจะอยากให้ถ่ายรูปให้ 😆
บริเวณทะเลทรายมีที่ตั้งแคมป์ แต่ผมไม่เจอใครเลยบริเวณนี้
เดินเล่นบนทะเลทรายไปครับ ร้อนเท้ามาก แม้จะเย็นแล้ว และเหนื่อยมากเช่นกันในการเดินแต่ละเนิน ไม่แปลกใจเลยทำไมคนที่หลงในทะเลทรายจะไม่รอดกัน
ชมพระอาทิตย์ตกจากเนินบนทะเลทราย
จริง ๆ อยากลองมาขี่อูฐเล่นซักหน่อยเหมือนกันนะครับ ไม่เจออูฐซักตัวเลย
ก่อนจะกลับเจอคนขับรถออฟโร้ดชวนว่าไปนั่งออฟโร้ดเล่นกันไหม 10 นาที ผมจำราคาไม่ได้แล้วแต่จำได้ว่าไม่แพงก็เลยไปกับเขา อารมณ์เหมือนนั่งรถไฟเหาะครับ

หลังจากนั้นก็เดินทางกลับอิสฟาฮาน เสียดายเหมือนกันครับ รู้สึกยังไม่ค่อยคุ้มที่มาทะเลทรายเท่าไหร่ น่าจะมีกิจกรรมมากกว่านี้ แต่มาคนเดียวก็ยากอยู่ อาจเหมาะจะมากับทัวร์

8 ส.ค. 66 หมู่บ้านอะบียาเนห์ คาชาน กลับไทย

และก็มาถึงวันสุดท้ายของทริปอิหร่านครับ วันนี้ก็ไม่มีอะไรมาก ออกเดินทางจากอิสฟาฮาน จากนั้นแวะสองที่ และก็ไปขึ้นเครื่องบินกลับไทยที่เตหะรานครับ

หมู่บ้านอะบียาเนห์ (Abyaneh village)

เป็นหมู่บ้านที่สามารถแวะไปได้ระหว่างทางจากอิสฟาฮานไปเตหะราน เป็นหมู่บ้านสีน้ำตาลแดง (จริง ๆ ให้บรรยากาศคล้าย ๆ มาซูเลห์ที่ไปใน PART 1 เหมือนกันนะครับ) อะบียาเนห์เป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุหลักพันปี เนื่องจากความไกลจากสังคมทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นหลาย ๆ อย่างยังคงอยู่ เช่น ภาษา หรือการแต่งกาย (ผ้าโพกศีรษะขาวลายดอกไม้ของผู้หญิง) ปัจจุบันไม่ได้มีคนอยู่ที่หมู่บ้านเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว

สีแดงของหมู่บ้านเกิดจากดินแถวนี้เป็นสีแดงเพราะมีธาตุเหล็กสูง พอนำมาทำเป็นบ้านก็เลยทำให้บ้านเป็นสีแดงไปด้วย

บรรยากาศภายในหมู่บ้าน
คุณยาย สวมผ้าโพกศีรษะขาว
ผมพยายามหาจุดที่สามารถถ่ายรูปเห็นทั้งหมู่บ้านออกมาเป็นสีแดง ๆ สวยเหมือนในหลาย ๆ ภาพ แต่ไม่มีเลย น่าจะต้องถ่ายมาจากนอกหมู่บ้าน
คุณโมฮัมเหม็ด คนขับรถและไกด์ของวันนี้ บอกกำลังจะเปลี่ยนสายงานไปรับราชการแล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซาในยุคหลังจากนโยบายต่างประเทศหลาย ๆ อย่าง

หลังจากนั้นเราก็ออกจากหมู่บ้านแล้วเดินทางต่อไปยังเมืองคาชาน (Kashan) ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ มีหลักฐานว่ามนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่ยุคหินเก่า (Paleolithic period) แต่มาเจริญรุ่งเรืองในยุคซาฟาวิดเช่นกันในฐานะสถานีการค้า ทำให้มีบ้านเศรษฐีสมัยเก่าหลาย ๆ หลังอยู่ในเมืองนี้

โรงอาบน้ำสุลต่านอาเมียร์ อาห์เหม็ด (Sultan Amir Ahmad Bathhouse)

เป็นโรงอาบน้ำสมัยศตวรรษที่ 16 โรงอาบน้ำนี่เป็นสิ่งก่อนสร้างสำคัญของเมืองในอิหร่านสมัยก่อน ไปเมืองไหนก็จะเจอโรงอาบน้ำอยู่ใกล้ ๆ ตลาด วัง และสิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ ครับ โรงอาบน้ำนี้ก็มีการตกแต่งที่สวยงาม ภายในแบ่งเป็นห้องย่อย ๆ หลาย ๆ ห้อง

ทางเข้าโรงอาบน้ำ วันที่ผมไปเขาปิดไม่ให้ขึ้นไปชมวิวข้างบนแล้ว
บรรยากาศภายในโรงอาบน้ำ
ตกแต่งสวยดีครับ
ไม่แน่ใจห้องไหนเป็นห้องไหนเหมือนกันครับ ห้องค่อนข้างเยอะ

คฤหาสถ์โบรูเจอร์ดี (Borujerdi House)

เป็นคฤหาสถ์ของพ่อค้าในศตรวรรษที่ 18 โดยคุณโบรูเจอร์ดี สร้างให้ภรรยาของเขา ภายในก็จะมีหลาย ๆ ห้อง หลาย ๆ โซน สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ (แต่ผมว่าสภาพโดยรวมค่อนข้างเก่าและไม่ค่อยได้รับการบูรณะเท่าไหร่เหมือนกันครับ)

คฤหาสถ์โบรูเจอร์ดี (Borujerdi House)
มีห้องเย็นอยู่ข้างใต้อาคาร โดยกลไกหลาย ๆ อย่างทำให้ห้องนี้จะเย็นกว่าข้างนอกพอสมควร
การตกแต่งภายในของคฤหาสถ์
การตกแต่งภายในของคฤหาสถ์
คุณพี่ท่านนี้ขายของที่นั่น แต่เขาสะสมธนบัตร เขาถามผมว่ามีแบงค์ไทยพกติดตัวมาไหม ผมเลยไปเอาให้เขา เขาก็ให้อัลบั้มโปสการ์ดมา

ยัคชาล (Yakhchāl)

อาจเรียกได้ว่า ตู้เย็นแห่งแรกของโลก พบอาคารแบบนี้ในหลาย ๆ แห่งในพื้นที่ตะวันออกกลางเช่นกัน หน้าที่หลักคือเอาไว้เก็บน้ำแข็งให้ใช้ได้ตลอดปี หลักการทำงานคืออาคารจะก่อสร้างโดยวัสดุฉนวนกันความร้อน ภายในจะเป็นหลุมลึกที่เก็บน้ำแข็งไว้ อากาศร้อนจะลอยขึ้นด้านบนและออกไปทางปล่องที่เตรียมไว้ จากนั้นในตอนกลางคืนที่อากาศหนาวเย็นก็จะมีน้ำแข็งเกิดขึ้นในบริเวณที่เตรียมไว้ ก็ไปเอาน้ำแข็งเหล่านี้มาเติมในอาคาร

ยัคชาลที่คาชาน มีอาคารแบบนี้หลาย ๆ ที่ในแถบนี้

เมืองใต้ดินนุชอาบัด (The Underground City of Nushabad)

เป็นเมืองใต้ดินโบราณตั้งแต่ยุคซาเซเนียน สร้างขึ้นมาเพื่อหลับหนีการรุกรานจากดินแดนอื่น ข้างในมีความลึกหลายระดับระหว่าง 4-18 เมตร กินขอบเขตพื้นที่ค่อนข้างกว้างและเข้าได้จากหลายเส้นทาง

การเที่ยวที่นี่ต้องไปเป็นรอบ ๆ และมีไกด์พาไปเท่านั้น ไม่สามารถไปเอง จริง ๆ ก็เข้าใจได้เพราะข้างในชวนหลงมาก ไปเองอาจจะติดในนั้น
คุณไกด์ของทริปผม
เดินกันยาว ๆ ในทางใต้ดินนี้ มีห้องสำหรับครอบครัว มีระบบกับดัก มีห้องน้ำ ห้องอื่น ๆ ใช้อยู่อาศัยได้

หลังจากนั้นผมก็เดินทางเข้าเตหะรานแล้วขึ้นเครื่องบินกลับไทยครับ ก็เป็นอันจบทริปอิหร่าน


ก็จบลงแล้วครับสำหรับ PART ที่สุดท้าย ขอบคุณที่ติดตามกันมานะครับ สำหรับ PART อื่น ๆ สามารถดูได้ที่ PART 1 และ PART 2

สำหรับผู้ที่สนใจทัวร์ ลองดูรายละเอียดในเว็บต่อไปนี้นะครับ

  • Wild Chronicles ทัวร์ไทยที่ผมใช้
  • Travelopersia เป็น local tour ที่ฝั่งอิหร่าน (คุณฮาคาน) อันนี้ถ้าอยากคุยกับเขา อยากจัด private tour เล็ก ๆ ของตัวเอง หลังไมค์มาได้ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *