ช่วงวันที่ 28 ก.ค. ถึง 8 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ผมไปเที่ยวอิหร่านมาครับ อยากไปมานานแล้ว พอดีเห็นทัวร์ของ Wild Chronicles ขึ้นมาบน Facebook พอดี ติดตามทางเพจมานาน รู้สึกว่าเป็นเพจที่ความรู้เรื่องตะวันออกกลางค่อนข้างแน่น คิดว่าไปเที่ยวกับทางเพจน่าจะน่าสนใจ ก็เลยกดจองไปเลยครับ
จริง ๆ ทัวร์ไม่ได้ยาวขนาดนี้ ความพีคคือ ผมไม่ทราบว่าปกติที่เขาเที่ยวกันมันคือทัวร์อิหร่านคลาสสิคลงไปทางตอนกลางของประเทศ แต่ทัวร์ที่ซื้อเป็นทัวร์ไปอิหร่านทางเหนือ ซึ่งเน้นธรรมชาติและคนละทางกันเลย 😆 แต่ไหน ๆ ก็จะไปแล้ว ก็เลยอยู่ต่อเองต่ออีก 5 วันแล้วไปทางอิหร่านคลาสสิคไปด้วยเลยครับ
เนื่องจากทริปยาวมากและรูปก็เยอะ เลยขอแยกออกเป็น 3 PART ครับ (Part 2, Part 3) อันนี้ออกแนวบันทึกการเดินทาง ไว้มีโอกาสผมมาสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ในอีกบล็อกหนึ่งแยกต่างหากละกันครับ
28 ก.ค. 66: เดินทางถึงเตหะราน
วันนี้ไม่มีอะไรมากครับ เดินทางไปถึงดึก ๆ กว่าจะผ่านเกทกว่าจะไปถึงโรงแรม Rexan Hotel ซึ่งถึงแม้จะอยู่ตรงข้ามสนามบิน ก็ตีสองกว่า ๆ เก็บของอาบน้ำ กว่าจะเสร็จก็ตีสามกว่า ๆ ก็เลยนอนเลยครับ
ในแง่การเดินทาง ตอนขาไปผมบินกับ Mahan Air อากาศร้อนมาก เหมือนระบบปรับอากาศเสีย เปิดฮีตเตอร์แรงไป แล้วก็ร้อนอย่างนั้นตลอดทริป คือนอนไม่หลับเลยครับบนเครื่อง ขากลับไม่ถึงกับร้อนมากแต่ก็ไม่เย็นอยู่ดี อาหารโอเค แต่ระบบต่าง ๆ บนเครื่องไม่ค่อยดี สรุปคือไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ครับสายการบินนี้ 😅

29 ก.ค. 66: ชาลูส – แรมซาร์
วันนี้เป็นการเดินทางออกจากเตหะราน ขึ้นเหนือไปทางเมืองชาลูส (Chalus) จากนั้นไปต่อจนถึงเมืองแรมซาร์ (Ramsar)
ระหว่างทางจะต้องผ่านเทือกเขาแอลโบร์ซ (Alborz) โดยเส้นทางที่ชื่อว่าถนนชาลูส (Chalus Road) หรือ Road 59 ซึ่งเป็นถนนที่ชาวอิหร่านนิยมไปโร้ดทริปกัน เนื่องจากมีความสวยงามของเทือกเขาดังกล่าว ระหว่างทางมีเขื่อนคาราจ (Karaj dam) ซึ่งก็แวะชมได้




เขื่อนคาราจ (Karaj Dam)
และแล้วก็ถึงจุดหมายแรกคือเขื่อนคาราจ ก็สวยดีครับ แต่ว่าก็ไม่ได้มีอะไรเท่าไหร่ 😆




ถนนชาลูส (Chalus Road)
นั่งรถกันต่อยาว ๆ บนถนนชาลูสครับ



ที่อิหร่านนี่คนนิยมซื้อรถสีขาวกันครับ ผมว่าน่าจะราว 80% อีก 15% เป็นสีดำ ที่เหลือเป็นสีอื่น ผมถามเขาว่าทำไมมีแต่สีขาว ถามแต่ละคนก็ได้คำตอบไม่ค่อยเหมือนกัน แต่เท่าที่ฟังเหตุผลดูจะเป็นว่า 1) ไม่ร้อน 2) ซื้อง่ายขายคล่อง 3) เขาผลิตมาแต่สีนี้ อันนี้ต้องเข้าใจพื้นเพเล็กน้อยว่าเขาโดนตะวันตกคว่ำบาตรมานาน หลาย ๆ อย่างก็ต้องผลิตเอง รถก็เช่นกันครับ แต่ในปีหลัง ๆ เหมือนจะเริ่มนำเข้ามาแล้วนะครับ





Namakabrud cable car
ตอนแรกทางผู้จัดตั้งเป้าว่าจะไปขึ้นกระเช้าลอยฟ้าที่แรมซาร์ แต่เนื่องจากรถติดมาก เราจึงไปถึงชาลูสค่อนข้างช้า ทางผู้จัดเกรงว่าถ้าเดินทางต่อไปที่แรมซาร์น่าจะมืดหมดแล้ว ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่เห็นอะไร เลยเปลี่ยนมาขึ้นกระเช้าที่ชาลูสแทน





30 ก.ค. 66 แรมซาร์ ปราสาทรุดข่าน หมู่บ้านมาซูเลห์
วันนี้ฝนตกทั้งวันเลยครับ เราเริ่มต้นวันด้วยการเที่ยวในตัวเมืองแรมซาร์ครับ
Casino Boulevard
เริ่มจากการไปที่ถนนคาสิโน (Casino Boulevard) ซึ่งเป็นถนนที่สร้างเพื่อไปที่บ่อนคาสิโนที่ตั้งใจว่าจะเปิดให้บริการในสมัยกษัตริย์พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (กษัตริย์องค์สุดท้าย) ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายได้เปิดไหมนะครับ แต่หลังการปฏิวัติอิสลามเหมือนคาสิโนทุกแห่งก็ปิดหมดครับ ถนนนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็นถนนครู หรือ teacher boulevard ไป


พิพิธภัณฑ์พระราชวังแรมซาร์ (Ramsar Palace Museum)
พิพิธภัณฑ์นี้เดิมเป็นพระราชวังมาก่อน เข้าใจว่าเป็นแนวบ้านพักตากอากาศของกษัตริย์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกษัตริย์พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวีแล้ว (พระบิดาของกษัตริย์องค์สุดท้าย) กษัตริย์โมฮัมหมัด เรซาเองก็ใช้ที่นี่เป็นที่ฮันนีมูนกับภรรยาคนที่สอง หลังการปฏิวัติจึงถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าชม ภายในประกอบด้วยอาคารหลายหลัง










เดินทางต่อ
เราออกจากเมืองแรมซาร์ และเดินทางต่อไปยังเมืองฟูมาน (Fuman) เพื่อไปยังปราสาทรุดข่าน (Rudkhan Castle)



ปราสาทรุดข่าน (Rudkhan Castle)
ปราสาทรุดข่านเป็นปราสาทตั้งแต่ยุคจักรวรรดิซาเซเนียน ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณค.ศ. 200-600 เป็นอาณาจักรสุดท้ายก่อนที่อาหรับจะรุกเข้ามาและเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม ปราสาทนี้สร้างขึ้นเพื่อต้านการรุกรานนั้น ปัจจุบันแทบไม่เหลืออะไรแล้วเหลือแค่กำแพงและซากปรักหักพังเล็กน้อยอยู่บนยอดเขา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางจากตีนเขาขึ้นไปราว 2 ชั่วโมง ระหว่างทางช่วงต้น ๆ จะมีร้านขายของและร้านนั่งชิลมากมาย
เราไปถึงที่ปราสาทค่อนข้างช้ากว่ากำหนดการ ดังนั้นจึงไม่มีเวลาพอจะขึ้นไปถึงจุดที่เป็นปราสาทได้ ก็เลยได้แต่ชมบรรยากาศร้านขายของบริเวณทางขึ้น (อันนี้คือผมเดินขึ้นอยู่ราว 30 นาทีนะครับร้านถึงจะหมด นับว่าร้านเยอะมาก)




หมู่บ้านมาซูเลห์ (Masuleh)
เราเดินทางกันต่อไปที่เป้าหมายต่อไปคือหมู่บ้านมาซูเลห์ครับ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่อยู่มานานมากแล้วตั้งแต่ราวปีค.ศ. 1000 (แต่ก็มีหลักฐานว่ามีชุมชนเกิดขึ้นบริเวณนั้นมาก่อนหน้านั้นแล้วครับ) จุดเด่นของที่นี่คือเป็นอาคารบนเขาที่หลังคาของบ้านที่อยู่ด้านล่างจะเป็นสวนและทางเดินของบ้านหลังที่อยู่บน ซ้อนกันไปเรื่อย ๆ ครับ









หลังจากนั้นเราก็เดินทางกันต่อไปที่เมืองบันดาร์ อันซาร์ลี (Bandar Anzali) เพื่อค้างคืน คืนนั้นเราพักกันที่โรงแรมสไตล์อีโค่แห่งหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้ ในแง่ความงามถือว่าโอเคเลยครับ แต่ในแง่บริการอาจยังไม่ค่อยพร้อมนัก ขนาดตอนเช้าคือไกด์ต้องมาเสิร์ฟอาหารทีละห้องให้แขกเองน่ะครับ 😅
31 ก.ค. 66 ทะเลแคสเปียน อาร์เดบิล
ตอนเข้าผมแวะถ่ายรูปบรรยากาศในโรงแรมเพิ่มเล็กน้อย สวยดีนะครับ

ทะเลแคสเปียน
ก่อนออกจากเมืองนี้เราแวะไปชมทะเลแคสเปียนกันเล็กน้อย ทะเลแคสเปียนคือทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ มีพรมแดนติดกับ 5 ประเทศ แต่ถ่ายภาพออกมาก็เหมือนทะเลธรรมดานี่แหละครับ 😆


อันซาร์ลีลากูน (Anzali lagoon)
ลากูนคือแหล่งน้ำตื้น ๆ ที่แยกออกจากทะเลครับ ที่เมืองนี้ก็มีลากูนเช่นกันโดยมีชื่อเสียงเรื่องมีทุ่งดอกบัวขนาดใหญ่ เราก็เลยไปล่องเรือชมดอกบัวกัน เอาจริง ๆ อาจไม่ได้ต่างจากในไทยเท่าไหร่




เส้นทางเฮรัน (Heyran Pass)
เราเดินทางกันต่อไปยังเมืองอาร์เดบิล (Ardabil) ครับ ระหว่างทางจะต้องมีการข้ามทือกเขาแอลโบร์ซอีกครั้ง ทำให้เกิดเส้นทางชมทิวทัศน์สวย ๆ อีกครั้ง เรียกว่าเส้นทางเฮรัน (Heyran pass) ครับ





Ardabil ยามค่ำ
เราเดินออกจากโรงแรมไปตามตัวเมืองอาร์เดบิลเพื่อไปร้านอาหารที่อยู่ใกล้ ๆ ถือโอกาสชมบรรยากาศเมืองไปด้วย





โดยรวมผมค่อนข้างชอบการเดินในเมืองอิหร่านนะครับ เมืองมีชีวิตชีวา เดินได้ ไม่ร้อน ร้านขายของต่าง ๆ มากมาย ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในห้าง



1 ส.ค. 66 อาร์เดบิล คานโดวาน
เมืองอาร์เดบิลนี้มีความสัมพันธ์กับราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid) ซึ่งตรงกับราว ค.ศ. 1500-1700 ซึ่งเป็นยุคที่เปอร์เซียกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหลังจากผ่านการรุกรานจากฝ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่อาหรับยันมองโกลในช่วงที่ผ่านมา กษัตริย์ชาห์อิสมาอิลที่ 1 ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์ซาฟาวิดเริ่มการรวมประเทศจากเมืองอาร์เดบิลนี้
Sheikh Safi Al-Din Ardabili’s Shrine
ชื่อยาวมาก อ่านไม่ถูกเลยทีเดียว แต่ที่แห่งนี้คือหลุมฝังศพของท่านชีค ซาฟี (Sheikh Safi) ซึ่งเป็นผู้นำแนวปฏิบัติแบบซูฟี (Sufism) ของศาสนาอิสลาม คือไกด์บอกว่า Shrine ของอิสลามนี่ก็คล้าย ๆ มัสยิดแหละครับแต่ว่ามีศพของผู้ศักดิ์สิทธิ์อยู่ในนั้นด้วย (มัสยิดไม่มี) พอดีว่ากษัตริย์ชาห์อิสมาอิลที่ 1 เชื่อมั่นในแนวปฏิบัติแบบซูฟีนี้ ก็เลยค่อนข้างโปรโมตเยอะในสมัยซาฟาวิด








เดินทางต่อ
จากนั้นเราก็มุ่งหน้ากันต่อไปยังเมืองทาบริซครับ ชมวิวข้างทางไปเรื่อย เพลิน ๆ ดีครับ




ภูเขาอะลาดักลาร์ (Aladaglar Mountains)
ระหว่างทางเราจะผ่านภูเขาอะลาดักลาร์ (Aladaglar Mountains) ซึ่งเป็นภูเขาหลากสี เกิดจากอะไรจำไม่ได้แล้วครับ แต่เหมือนจะเป็นแบบนี้มาเป็นล้านปีแล้วนะครับ สวยดีครับ




คานโดวาน
และแล้วก็มาถึงจุดหมายปลายทางของวันคือคานโดวาน เป็นหมู่บ้านบนเขาที่สร้างขึ้นด้วยการเจาะเข้าไปในผนังถ้ำจนเป็นห้องครับ ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีทั้งแบบ homestay ให้เราไปพักกับชาวบ้านแถวนั้น และแบบซื้อต่อจากชาวบ้านมาทำเป็นโรงแรม โรงแรมที่เราพักวันนี้ก็เช่นกันครับ เหมือนจะชื่อว่า Kandovan Laleh International Rocky Hotel เราเข้าไปที่โรงแรมเก็บของก่อน







เก็บของเสร็จ เราก็เดินเข้าไปในเมืองเพื่อไปชมวิว





ก็จบลงแล้วครับสำหรับ PART แรก ไว้มาต่อ PART ถัดไปกันครับ (Part 2, Part 3)
สำหรับผู้ที่สนใจทัวร์ ลองดูรายละเอียดในเว็บต่อไปนี้นะครับ
- Wild Chronicles ทัวร์ไทยที่ผมใช้
- Travelopersia เป็น local tour ที่ฝั่งอิหร่าน (คุณฮาคาน) อันนี้ถ้าอยากคุยกับเขา อยากจัด private tour เล็ก ๆ ของตัวเอง หลังไมค์มาได้ครับ
ขอบคุณที่ช่วยเขียนและลงรูปให้นะคะ