หลังจาก PART 1 ก็มาต่อกันที่ PART 2 ครับ ผมอยู่กับคณะทัวร์ของ Wild Chronicles อีกสองวันที่ทาบริซและเตหะราน หลังจากนั้นก็เที่ยวต่อเองคนเดียวในโซนอิหร่านคลาสสิคครับ โดยในขณะที่อยู่สนามบินทาบริซขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินไปเตหะรานก็เกิดปัญหาเล็กน้อย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดีครับ
2 ส.ค. 66 ทาบริซ
เราออกจากคานโดวานกันสาย ๆ จากนั้นเดินทางเข้าไปที่ทาบริซ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งก็ถึงครับ ทาบริซเป็นเมืองใหญ่อันดับ 6 ของประเทศในแง่ประชากร แต่เป็นศูนย์กลางของอิหร่านในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่ยุคเส้นทางสายไหม ในบันทึกของมาร์โค โปโลเองก็มีกล่าวถึงเมืองนี้ ทาบริซเคยเป็นเมืองหลวงในบางยุคสมัย เช่นในสมัยซาฟาวิด และเนื่องจากอยู่บริเวณเทือกเขาคอเคซัสซึ่งใกล้กับพรมแดนรัสเซียและตุรกี บางช่วงก็เคยตกเป็นของออตโตมัน หรือในช่วงสงครามช่วงปี 1800s ก็เคยตกเป็นของรัสเซียอยู่เหมือนกัน



Tabriz Grand Bazaar
เราไปถึงที่ bazaar ประมาณเที่ยง ทางคณะทัวร์ก็แยกย้ายกันเดินเล่นในตลาดก่อน จากนั้นนัดพบกันที่ร้านอาหารราวบ่ายโมงครึ่ง ตอนแรกผมก็แปลกใจว่าทำไมกินข้าวแถว ๆ บ่ายสองทุกวันเลย สรุปดูเหมือนจะเป็นเวลากินข้าวประจำของคนที่นี่ครับ เขากินกันราว ๆ นั้น
Tabriz Grand Bazaar นี้เป็นตลาดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอิหร่านครับ อยู่คู่กับเมืองทาบริซมานานตั้งแต่ยุคโบราณ องค์การยูเนสโกยกให้ตลาดนี้เป็นมรดกโลกในปี 2010


















พิพิธภัณฑ์อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan museum)
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งต่าง ๆ ที่ค้นพบในแถบนี้ เนื่องจากพื้นที่แถบนี้อยู่มานาน ของที่ค้นพบเลยมาจากยุคสมัยต่าง ๆ





.
มัสยิดสีน้ำเงิน (Blue Mosque หรือ Masjed-e Kabūd)
มัสยิดสำคัญของเมือง แต่ไม่ได้เก่ามากนะครับ สร้างราว ๆ 1400s ตอนที่ทาบริซตกเป็นของออตโตมัน เห็นบอกว่าพรมหายไปหลายผืน หลังจากนั้นก็มีแผ่นดินไหวหลายครั้ง ครั้งที่หนักที่สุดคือปีค.ศ. 1780 ทำลายแทบจะทั้งหมดเลยเหลือแค่ส่วนทางเข้าหรือที่เรียกว่า อีวาน (Iwan) ซึ่งมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมที่เปิดด้านหน้าและมีซุ้มโค้ง จะเห็นสถาปัตยกรรมแบบนี้ค่อนข้างเยอะในศิลปะอิสลาม
หลังจากนั้นมัสยิดก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง คนก็เข้ามาขโมยของหลายครั้ง จนในราชวงศ์ปาห์ลาวีจึงบูรณะและสร้างต่อให้เป็นมัสยิดเหมือนเดิม






Shah Goli Park
หลังจากนั้นเราก็ไปพักผ่อนกันที่สวนสาธารณะประจำเมือง อันนี้ก็ไม่มีอะไรครับ เดินเล่นชมบรรยากาศ




หลังจากนั้นเราก็ไปทานข้าวเย็นกันก่อนไปที่สนามบิน


Tabriz Incident
เรามาถึงที่สนามบินทาบริซ เพื่อเดินทางต่อไปที่เตะหานครับ แต่ขณะที่อยู่ที่สนามบินผมเกิดเรื่องนิดหน่อยครับ ตอนนั้นผมก็ผ่านขั้นตอนการเช็คอินการตรวจ security อะไรตามปกติ จนไปถึงหน้าเกทรอขึ้นเครื่องครับ โซนที่เป็นม้านั่ง
เท่าที่ผมไปสนามบินมา ปกติสนามบินจะไม่ให้ถ่ายช่วงตรวจ security แต่พอผ่านมาแล้วก็ให้ถ่ายได้ หลายแห่งตกแต่งสวยงามให้ถ่ายด้วยซ้ำไปครับ ที่ทาบริซเองบริเวณนี้ก็ไม่ได้มีป้ายห้ามถ่ายอะไร และคนก็หยิบมือถือมาถ่ายกันประปราย พอไปถึงตรงหน้าเกท ผมก็หยิบกล้องมาถ่ายบ้าง แต่ถ่ายเป็นวิดีโอก็เลยมีแพนกล้องไปมา
แป๊ปเดียวมีพนักงานรักษาความปลอดภัยเดินมาโวยวาย ๆ ฟังไม่ออกแต่เข้าใจว่าจะสื่อว่าห้ามถ่าย แล้วเขาก็ให้ตามเขาไปที่อีกห้องหนึ่ง ในใจตอนนั้นคือคิดว่าเอาแล้ว จะติดคุกมั้ยว้า 😆 ก็เลยหันไปเรียกไกด์ท้องถิ่นให้มาช่วย ไกด์ก็ช่วยเจรจาให้ จนเดินไปที่อีกห้องนึง เขาก็เรียกหัวหน้าเขาให้มาคุยด้วย คุยกันอยู่ซักพัก ถามว่าเป็นใคร ถ่ายไปทำไม ทำไมต้องถ่ายวิดีโอ ขอดูรูปทั้งหมดที่ถ่าย ฯลฯ สุดท้ายก็ยอมปล่อยตัว โดยให้ลบรูปทั้งหมดที่ถ่ายที่สนามบิน (นับว่ายังดี นึกว่าจะโดนยึดกล้องยึดเมม) และไม่ให้ถ่ายอะไรอีกที่สนามบิน
ก็ได้กลับไปรอขึ้นเครื่อง จนเดินทางมาถึงเตหะรานได้ครับ (สุดท้ายก็มาถึงไทยได้ แสดงว่าน่าจะไม่ได้โดนขึ้น black list อะไร) เป็นการโดนแบบงง ๆ คือถ้ามีป้ายบอกก็อาจจะเข้าใจได้ว่าผิดจริง อันนี้ก็ไม่มีป้ายอะไร แถมคนอื่นก็ถ่ายกันเยอะแยะ เหตุผลเดียวที่นึกออกคือน่าจะเพราะผมใช้กล้องที่ดูใหญ่ อาจจะเหมือนชาติศัตรูจ้างมาล้วงความลับล่ะมั้ง 😅
อยากฝากทุกท่านที่เดินทางไปอิหร่านครับว่าระวังเรื่องการถ่ายรูปให้ดี และห้ามถ่ายรูปในสนามบินนะครับ ผมนึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มีไกด์ท้องถิ่นไปด้วยจะรอดมาจากตรงนั้นยังไง
Ferdowsi Hotel
ใช้เวลาชั่วโมงนิด ๆ ก็มาถึงเตหะรานครับ พักที่ Ferdowsi International Grand Hotel ครับ บรรยากาศโอเคเลยนะครับ

3 ส.ค. 66 เตหะราน วันที่ 1
วันนี้เป็นวันที่มี heat wave ที่เตหะราน ร้อนในระดับที่เขาสั่งปิดสถานที่ราชการหลาย ๆ แห่ง โชคดีตรงที่ที่เราไปส่วนใหญ่ไม่ปิด แต่ก็ร้อนมากอยู่ดีครับ
Bagh-e Melli (National Garden)
เราเริ่มวันกันที่แวะมาดูประตูนี้ครับ เหมือนจะเป็นประตูที่สร้างขึ้นช่วงยุค 1900s เพื่อเข้าไปยังพื้นที่ทหาร แต่ต่อมากลายเป็นสวนสาธารณะและก็มีอาคารของราชการหลาย ๆ แห่งสร้างขึ้นรอบ ๆ บริเวณนี้ หนึ่งในนั้นคือกระทรวงการต่างประเทศ



พระราชวังโกเลสตาน (Golestan Palace)
และก็มาถึงสถานที่ที่ทุกคนที่ไปเที่ยวเตหะรานต้องไปครับ พระราชวังนี้จริง ๆ สร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1200 แล้ว แต่ตอนนั้นเป็นแค่อาคารเล็ก ๆ จนมาถึงราชวงศ์คาจาร์ (กอญัร) ได้ย้ายเมืองหลวงมาที่เตหะราน และก็เลือกเอาที่นี่เป็นพระราชวัง เลยเกิดการอัพเกรดครั้งใหญ่ กลายเป็นแบบในปัจจุบัน สมัยราชวงศ์ปาห์ลาวีได้ย้ายวังไปอยู่ที่อื่น แต่ก็ยังใช้ที่นี่เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญเช่นพิธีขึ้นครองราชย์












Tehran Grand Bazaar
ไม่ไกลจากพระราชวังจะเป็นตลาด grand bazaar โดยรวมผมว่าไม่ได้ต่างจากที่ทาบริซหรือที่อื่น ๆ มากนัก แต่จำนวนคนนับว่ามหาศาลกว่ามาก เราอยู่ที่นี่ไม่นานก็ไปที่ต่อไป






หลังจากนั้นเราก็ออกจากตลาดเพื่อไปทานข้าวเที่ยงที่ร้านอาหารไทย (เจ้าของเป็นคนไทยมาเปิด) เพื่อดูว่าจะต่างจากที่ไทยอย่างไรบ้าง

หอคอยอะซาดี (Azadi Tower)
หลังทานเข้าเที่ยงเราก็ไปที่หอคอยอะซาดีนี้ต่อ เป็นหอคอยใกล้ ๆ สนามบิน Mehrabad Airport ซึ่งเป็นสนามบินภายในประเทศ
หอคอยนี้สร้างโดยพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (กษัตริย์องค์สุดท้าย) สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 2,500 ปีอาณาจักรเปอร์เซีย โดยให้เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศ สร้างเสร็จปี 1971 ตอนแรกไม่ได้ชื่อนี้ มาเปลี่ยนชื่อเป็น Azadi ซึ่งแปลว่า freedom หลังการปฏิวัติอิสลาม






ทะเลสาบชิตการ์ (Chitgar Lake)
ก่อนหมดวันเราไปที่ทะเลสาบชิตการ์ ไกด์บอกว่าเขตนี้เป็นเขตเมืองใหม่ที่เพิ่งสร้าง รัฐบาลพยายามผลักดันให้คนออกจากเตหะรานมาอยู่แถวนี้ มีตึกใหม่กำลังสร้างเยอะเลยครับ





หลังจากนั้นเพื่อนคณะทัวร์ก็เดินทางไปที่สนามบินเพื่อเดินทางกลับไทย ส่วนผมเดินทางกลับโรงแรมเพื่อรอไปเที่ยวต่อครับ
4 ส.ค. 66 เตหะราน วันที่ 2
วันนี้ไม่มีอะไรมาก ฮาคาน (ไกด์ท้องถิ่น) พาผมเที่ยวสองคน ได้มีโอกาสเดินทางในเมืองแบบคนท้องถิ่นจริง ๆ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีครับ

Tajrish Bazaar
ที่แรกที่เราไปคือที่ Tajrish bazaar นี้ อันนี้ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจความสำคัญเหมือนกันครับ เขาแนะนำให้มาก็มา 😆



Emamzadeh Saleh Shrine
ใกล้ ๆ กันจะมี shrine นี้ (ศาสนสถานที่เป็นหลุมฝังศพด้วย) เป็นหลุมฝังศพของบุคคลสำคัญหลาย ๆ ท่าน


Darband village
เราเดินทางต่อด้วยแท็กซี่ (จริง ๆ คือแอพเรียกรถที่คนอิหร่านนิยมใช้กันมาก ผมลืมชื่อ) ไปที่หมู่บ้าน Darband นี้ ไกด์บอกว่าเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ชาวเตหะรานนิยมไปกัน เพราะอยู่บนเขาขึ้นมาหน่อย อากาศดี ผมไปถึงก็พบว่าจริงอยู่ อากาศจะเย็นกว่าที่ตัวเมืองเล็กน้อย






The Den of Espionage – อดีตสถานทูตอเมริกา
ช่วงที่เกิดเหตุปฏิวัติอิสลามเมื่อปีค.ศ.1979 เกิดเหตุการณ์บุกยึดสถานทูตอเมริกาในอิหร่านและจับพนักงานที่นั่นเป็นตัวประกัน หากใครเคยดูหนัง Argo อาจคุ้น ๆ หลังจากนั้นอเมริกาก็ตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนสถานทูตปัจจุบันก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไป
ภายในอาคารไม่อนุญาตให้ถ่ายวิดีโอ แต่ถ่ายภาพมาได้ครับ ถ่ายภาพมาเหมือนไม่มีอะไร แต่จริง ๆ มีห้องลับ มีกำแพงหนา มีเครื่องมือจัดการด้านข้อมูล (สมัยนั้น) พอสมควรเหมือนกันครับ เราไม่สามารถทราบได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลอเมริกาทำในนี้เป็นของจริงหรือเป็นสิ่งที่อิหร่านสร้างขึ้น (แต่ส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่าจริง 😆) แต่อิหร่านเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของอเมริกาในสมัยก่อน เหมือนตั้งใจจะให้เป็นศูนย์กลางการสอดแนมทั้งภูมิภาคนี้ เชื่อว่าน่าจะมีแบบนี้ในอีกหลาย ๆ ประเทศ ถ้าใครชอบเรื่องการเมืองระหว่างประเทศน่าจะชอบที่นี่ครับ









สะพานแห่งธรรมชาติ (Tabiat Bridge – The bridge of nature)
เป็นสะพานคนเดินที่เชื่อมสวนสาธารณะสองแห่ง โดยเป็นสะพานข้ามถนน highway ใหญ่






หลังจากนั้นผมว่าจะไปพิพิธภัณฑ์สงคราม เสียดายปิดเนื่องจาก heat wave ก็เลยกลับโรงแรมเก็บของ แล้วก็ไปดูไกด์เตะบอล 55 สัมผัสชีวิตแบบคนโลคอล จากนั้นเดินทางต่อไปสนามบินครับ

Elysee Hotel Shiraz
ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงกว่า ๆ มาถึงชีราซ เจอกับไกด์อีกคนที่มารอรับ แล้วก็เดินทางเข้าโรงแรมครับ โรงแรมนี้โอเคเลยนะครับ ผมว่าพวกเมืองแบบเตหะราน ชีราซ อิสฟาฮาน พวกนี้นักท่องเที่ยวเยอะ โรงแรมจะค่อนข้างดี

ก็จบลงแล้วครับสำหรับ PART ที่สอง ไว้มาต่อ PART สุดท้ายกันครับ
สำหรับผู้ที่สนใจทัวร์ ลองดูรายละเอียดในเว็บต่อไปนี้นะครับ
- Wild Chronicles ทัวร์ไทยที่ผมใช้
- Travelopersia เป็น local tour ที่ฝั่งอิหร่าน (คุณฮาคาน) อันนี้ถ้าอยากคุยกับเขา อยากจัด private tour เล็ก ๆ ของตัวเอง หลังไมค์มาได้ครับ