เมื่อวันที่ 2-4 พ.ย. ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม National University Health System (NUHS) ณ ประเทศสิงคโปร์มาครับ โดยเดินทางไปกับคณะศึกษาดูงานของ Thai Medical Informatics Association (TMI) ครับ ต้องขอขอบพระคุณทาง TMI มา ณ โอกาสนี้นะครับที่อนุญาตให้เดินทางไปด้วยครับ ในการนี้ จึงได้รวมรวมประเด็นที่น่าสนใจและความคิดเห็นของผมบางส่วนไว้ในโพสนี้
ต้องขอออกตัว 3 ประเด็นครับ
- ข้อมูลที่ผมได้รับมาจากทางผู้บรรยายเป็นหลักนะครับ ซึ่งบางทีก็ไม่แน่ใจว่าเก็บประเด็นได้ถูกต้องหรือไม่ และผมไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแต่อย่างใด ดังนั้นอาจมีประเด็นที่คลาดเคลื่อนได้ครับ
- ในการดูงานครั้งนี้ทางเจ้าภาพไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปที่เห็นผู้ป่วยและข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงหน้าจอการทำงานของโปรแกรม Epic ดังนั้นจึงมีภาพประกอบค่อนข้างน้อยครับ
- เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเขาให้แชร์สไลด์ที่ถ่ายมาได้หรือไม่ เลยไม่ขอแชร์แล้วกันครับ
( ภาพ featured image โดย Isaac Matthew จาก Unsplash )
ภาพรวมระบบบริการสุขภาพของสิงคโปร์
สิงคโปร์แบ่งระบบบริการสุขภาพออกเป็น 3 เขตสุขภาพ (health cluster) ได้แก่ 1) National University Health System (NUHS) ทางตะวันตก 2) National Healthcare Group (NHG) สำหรับโซนตรงกลาง และ 3) SingHealth สำหรับโซนตะวันออก โดยในแต่ละเขตสุขภาพก็จะมีผู้ให้บริการสุขภาพหลากหลายหน่วยบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิก และอื่น ๆ
การบริการสุขภาพปฐมภูมิ หลัก ๆ แล้วดำเนินงานโดยหน่วยบริการ 2 ประเภท คือ 1) คลินิกแพทย์เอกชน (private GP clinic) และ 2) สหคลินิก (Polyclinic) ซึ่งเป็นหน่วยบริการของรัฐ คล้าย ๆ รพ.ช.ขนาดเล็กบ้านเรา แต่ว่าไม่มีส่วน IPD อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีภายในก็ค่อนข้างก้าวหน้ามากภายในสหคลินิก เช่น มีการจ่ายยาด้วยหุ่นยนต์ เป็นต้น

สำหรับการดูงานครั้งนี้ คณะของเราไปดูงานที่ NUHS ทางตะวันตก โดยไปดูที่ 3 แห่ง ได้แก่ National University Hospital (NUH) National University Polyclinic (NUP) และ Ng Teng Fong General Hospital (เป็นรพ.ที่ได้ HIMSS stage 7) เนื่องจากในส่วนที่ไปเยี่ยมชมไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าใดนัก ผมจึงขอกล่าวถึงทั้งสามแห่งรวม ๆ กันไปเลยนะครับ
NEXT Generation Electronic Medical Records (NGEMR)
ไฮไลท์สำคัญของการดูงานครั้งนี้คือ NGEMR ครับ เป็นระบบที่สิงคโปร์วางแผนจะนำมาใช้งานในโรงพยาบาลทุกแห่งในเขต NUHS และ NHG ครับ ก่อนหน้านี้ แต่ละสถานพยาบาลมีอิสระที่จะเลือกใช้ EMR ใดก็ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มีระบบหลัก ๆ อยู่ 3 ราย ได้แก่ Computerised Patient Support System 2 (CPSS2), Allscript และ Epic โดย CPSS2 เป็นระบบที่พัฒนาโดยบริษัท IHiS ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลสิงคโปร์ ตั้งมาพัฒนาระบบ health IT ของประเทศ ปัจจุบันก็ยังดำเนินงานอยู่ และมีระบบที่ดูแลมากมาย (ตัวอย่าง)
ต่อมาเนื่องโดยข้อจำกัดหลายประการ ประเด็นสำคัญคือความ fragmentation ของระบบต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ สิงคโปร์จึงริเริ่มโครงการ NGEMR หรือก็คือการให้ทุกโรงพยาบาลใน NUHS และ NHG เปลี่ยนไปใช้ Epic ทั้งหมด เป็น EHR ระบบเดียวใช้ทุกโรงพยาบาล นอกจากนี้ หากหน่วยบริการอื่น ๆ เช่น Polyclinic ที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ ก็สามารถเข้ามาใช้ระบบ NGEMR ร่วมด้วยได้ ซึ่งในทั้ง 3 สถานพยาบาลที่คณะเราไปดูงานล้วนแล้วแต่ใช้ Epic ทั้งหมดครับ ส่วนการแลกเปลี่ยนกับสถานพยาบาลอื่น ๆ ให้ทำผ่าน National Electronic Health Record (NEHR) ซึ่งจะเป็นการส่ง summary จากใน Epic ไปเข้า NEHR เมื่อจบแต่ละ visit

ผมได้ยินชื่อเสียงของ Epic มานาน (ยอมรับว่าส่วนใหญ่ไปในแนวทางที่ไม่ค่อยดี เช่น แพงเวอร์, vendor lock-in) เคยมีโอกาสเห็น UI ของ Epic อยู่บ้าง ก็ไม่ได้รู้สึกว่าน่าจะใช้ง่ายเท่าใด แต่จากการมาสัมผัสกับผู้ใช้งานจริงที่นี่ ผมรู้สึกว่าเขาชื่นชอบ Epic กันค่อนข้างมาก เขาดูภูมิใจกับระบบนี้ และดูตอนเขาใช้งาน เขาก็ใช้โปรแกรมได้ค่อนข้างเร็ว กด ๆ คลิก ๆ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของโปรแกรมได้ หรืออาจเพราะคนที่นำเสนอเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในทีม implement ก็เลยค่อนข้างใช้งานได้คล่องก็ได้ครับ
จริง ๆ ผมเองไม่ค่อยสนับสนุนแนวทางใช้โปรแกรมเดียวในหลาย ๆ สถานพยาบาล เพื่อจุดประสงค์ด้านการบูรณาการข้อมูลเท่าใด แต่มาเห็นการใช้งาน Epic ในทุก ๆ เรื่องของที่นี่ ผมก็แอบรู้สึกว่าถ้าเราไปแนวทางให้อิสระในการเลือกระบบเต็มที่ เชื่อมโยงกันด้วยมาตรฐาน ก็ต้องมากำหนดมาตรฐาน (เช่น ทำ FHIR profile) ซึ่งถ้าจะให้บูรณาการข้อมูลจำนวนมาก ๆ ได้แบบที่ Epic ทำได้นี่คงต้องสร้าง FHIR profile กันเหนื่อยเลยครับ และต้องทำ extension กันหนักเลย แถมยังมีพวกข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ clinical data ที่ผมก็ไม่รู้ต้องใช้มาตรฐานอะไรมาแลกอีกนั่นครับ
แต่การใช้ระบบเดียวแบบนี้ ผมก็รู้สึกว่าเสี่ยงเหมือนกันนะครับ เพราะทั้งประเทศต้องคาดหวังให้ Epic คอยพัฒนาโปรแกรมให้ทันต่อความต้องการของผู้ใช้ ถ้าหากไม่สามารถทำได้ดีพอ ก็อาจจะเกิดกลุ่มที่ไม่โอเคกับระบบที่เป็นและต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องไปสร้างระบบใหม่แล้วก็มีปัญหาต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายเพื่อเชื่อมต่อเข้ามายังระบบของ Epic ได้ ถ้าไม่อยากเสียก็ต้องอยู่กับระบบเดิมต่อ แถมแต่ละปีก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการ maintenance มากมาย เกิดภาวะ vendor lock-in ปัญหานี้ไม่เชิงไม่เกิดขึ้น แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้วในบางแผนกที่ได้ไปเยี่ยม เขาบอกว่ามีระบบเดิมอยู่แล้ว แต่เชื่อมเข้ากับ Epic ไม่ค่อยสมบูรณ์ ถ้าจะเชื่อมได้ดีต้องเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมแบบเดียวกันของทาง Epic ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ฟีเจอร์ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก สุดท้ายก็อยู่ในภาวะรอให้แก้ไขอยู่
ผมถามเขาว่าเตรียมการรับมือปัญหา vendor lock-in นี้อย่างไร อันนี้เขาตอบยังไม่จบก็มีจังหวะให้ไปทำเรื่องอื่นก่อน เลยไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันครับ แต่ประเด็นแรกคือเขาค่อนข้างเชื่อมั่นว่า IHiS จะสามารถต่อรองกับ Epic ได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง
ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการใช้งานเท่าที่ผมได้ไปสัมผัสมาครับ
EHR และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
- Epic เองมีโมดูลเยอะมาก ๆ สำหรับทุกแผนกในรพ. ซึ่งขนาดเยอะขนาดนี้เขาก็ยังบอกว่านี่เพิ่งใช้ไปแค่ 30% ของที่มี
- ข้อมูลอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งรพ. การบันทึกส่วนใหญ่เป็นการบันทึกแบบ structured data (ไม่ใช่ free text) อันนี้คือขั้นต้น แต่ที่เขาตั้งเป้าคือให้บันทึกแบบ discreted data คือเป็น data ที่เลือกจากค่าที่กำหนด ตอนนี้หลาย ๆ เรื่องก็สามารถเป็นแบบนั้นได้ 100% แล้ว แต่หลายเรื่องก็ยังน้อยอยู่
- การบันทึกข้อมูลใน IPD หลัก ๆ ทำผ่าน PC ที่อยู่บนรถเข็น (medical computer cart) รถเข็นที่ซื้อจะเน้นรุ่นที่น้ำหนักเบา ปรับความสูงได้ แบตเตอรี่อยู่ได้ 12 ชม. บนรถก็จะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ กันออกไป เช่น barcode scanner หรืออุปกรณ์ไว้ให้คนไข้เซ็น consent เป็นต้น จริง ๆ ผมว่าประเด็นนี้ ถ้าเปลี่ยนไปใช้คอม ARM เช่น iPad แล้วหาอุปกรณ์ต่อพ่วงมาต่อ อาจได้น้ำหนักที่เบาลงไปอีกได้ครับ อันนี้ต้องเข็น PC ทั้งเครื่อง ยังไงก็มีความหนัก (แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการถือ iPad ราวน์นะ ผมว่ามันดูบันทึกข้อมูลยาก ยังไงก็ควรมีจอใหญ่ ๆ และคีย์บอร์ดให้พิมพ์)

- ถ้าเป็น ICU ทุกห้องจะมีคอมอยู่หน้าห้องเลย ใช้คอมข้างหน้าด้วยก็ได้
- อย่างหนึ่งที่ผมชอบคือ เขาใช้อุปกรณ์หลาย ๆ อย่างในการช่วยบันทึกข้อมูล อย่างพยาบาลทุกคนเมื่อมาถึงที่ทำงานจะมี iPhone ให้หยิบไปใช้ เพื่อใช้ดู task ที่ต้องทำ, ใช้สแกน barcode สำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ (เช่น ตอนให้ยา), ใช้ถ่ายรูปแผลคนไข้บันทึกเข้าระบบ เป็นต้น เมื่อเลิกงานก็เอามาคืน
- หรืออย่างแผนกที่ตรวจตาก็เป็นกล้องถ่ายรูปต่อตรงเข้ากล้องตรวจตา ถ่ายรูปเก็บเข้าระบบได้เลย อันนี้ที่ polyclinic ซึ่งไม่มีหมอตา ก็สามารถส่งไปให้ส่วนกลางอ่านผลให้ได้ ได้ผลภายใน 1-2 ชม. (แต่ว่ายังไม่ได้ใช้ AI อ่านนะครับ ยังใช้หมออ่านผลอยู่)
- ไฮไลท์สำคัญอย่างหนึ่งคือเขาใช้ Epic เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง คือ ตั้งแต่เดินดูยังไม่เจออุปกรณ์ไหนไม่เชื่อมกับ Epic เลย เช่น พวกการวัดสัญญาณชีพทาง telemetry, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องฟอกไต, เครื่องดมยาสลบ, แล็บต่าง ๆ, Point-of-care testing, หุ่นยนต์ส่งอาหาร, หรือแม้แต่ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่เตียงคนไข้ ฯลฯ ทั้งหมดจะมี middleware เชื่อมเข้าสู่ Epic
- พวกที่เป็นข้อมูลต่อเนื่องทั้งหลาย เช่น การ monitor vital sign ใน ICU อันนี้จะ sampling มาเก็บเข้า Epic ทุก 5 นาที ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ ไม่ได้เก็บทั้งหมด
- อย่างเครื่อง monitor vital sign คนไข้ ก็จะ integrate กับ Epic แล้วแสดง NEWS-2 score ไว้ที่เครื่องเลย
- ถ้าเป็นพวกอุปกรณ์ที่เก่าหน่อย จะมีกล่องเล็ก ๆ มาต่อ จากนั้นก็เชื่อมเข้า middleware ได้

- มีเครื่องมือพวก data analytics ที่มีความสามารถค่อนข้างสูงเหมือนกันครับ ตัวที่เขา demo อันนึงคือ Slicerdicer ซึ่งเป็นเครื่องมือแนว ๆ BI แต่ opimized มาสำหรับ data ใน Epic ซึ่ง user ที่เป็น clinician ก็สามารถลาก ๆ วาง ๆ component ต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลหรือหาคนไข้มาเข้า cohort ของ clinical trial ได้
- เขาพาไปดูห้องแล็บ เหมือนเข้าโรงงานผลิตซักอย่าง ถ้าเป็นการตรวจเลือดนี่คือ technician แค่รับหลอดเลือดมา สแกนนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วเอาเข้าเครื่องเลย ที่เหลือหุ่นยนต์ทำหมด จนได้ผลออกมาเลย
- Epic มี PHR ให้คนไข้ชื่อว่า MyChart แต่เหมือนทาง NUHS ก็มีแอพ PHR ของตัวเองเหมือนกัน ไม่แน่ใจเหตุผลเหมือนกันครับ นอกจากนี้ก็มีแอพแนว ๆ concierge สำหรับคนไข้ IPD ที่วางแผนจะให้ iPad คนไข้ทุกคนตอน admit แล้วก็ใช้บริการหลาย ๆ อย่างผ่าน app ดังกล่าวใน iPad
ระบบจัดการยา
เป็นระบบ closed loop medication management ลองดูวิดีโอข้างล่างนี้ประกอบครับ วิดีโอเมื่อ 6 ปีก่อน แต่โดยรวมหลักการยังคล้าย ๆ เดิม
- เริ่มจากหมอสั่งยาในระบบไปถึงห้องยา ที่ห้องยาจะมีการจัดยาด้วยหุ่นยนต์เข้า unit dose เป็นถุงเล็ก ๆ จากนั้นส่งไปที่วอร์ดก็จะเป็นระบบ e-MAR เวลาจะให้ยาคนไข้ก็ต้องสแกนบาร์โค้ดที่มือก่อน แล้วก็สแกนยาที่ซองยาอีกรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าถูกคนถูกยาแน่ ๆ ให้ยาเสร็จหมดก็สแกนคนไข้อีกรอบ ยืนยันว่าจบหมด
- ผมถามเขาว่าระบบจ่ายยาด้วยหุ่นยนต์นี่มีข้อผิดพลาดอะไรบ้างไหม เขาพยายามนึกอยู่นาน แล้วก็ยกมาเคสนึง ฟังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ครับ แต่จับประเด็นได้ว่าเภสัชที่อยู่ในห้องก็ detect ปัญหาเจอได้อยู่ดี
- ถ้าในวอร์ดหรือ ICU มีการเก็บยา จะเป็นระบบ intelligence cabinet คือจะจ่ายยาไหนให้คนไข้ ต้องสแกนลายนิ้วมือคนที่จะเปิดตู้ก่อน และสแกนรายการยาที่จะใช้ให้ตรงกับที่หมอสั่งไว้ จากนั้นตู้จะมีไฟกระพริบบอกว่าให้หยิบช่องไหน ก็หยิบตามช่องนั้นไปจ่าย ถ้าเป็นยาที่มีความเสี่ยงสูงต้องใช้สองคนสแกนลายนิ้วมือติด ๆ กัน
- การจัดการ consumable จะมีระบบ RFID แม้ว่าปกติจะมีการเติม stock เป็นระยะอยู่แล้ว แต่ถ้าอันไหนหมดก่อนเวลาให้หยิบป้ายมาหยอด ณ จุดที่กำหนด ฝ่าย stock จะได้รับ notify ให้มาเติม พอเติมเสร็จก็หยิบเอาป้าย RFID นั้นออกจากตู้

Interoperability and Health Information Standards
- การไปดูงานรอบนี้พูดถึงประเด็นนี้ค่อนข้างน้อย แต่เท่าที่จับใจความได้ก็คือ มีการใช้ SNOMED CT ในการลงข้อมูลการวินิจฉัย โดยระบบจะแปลงเป็น ICD-10-AM โดยอัตโนมัติ ทางสิงคโปร์ไม่มีการทำ SNOMED extension คือใช้เท่าที่มีเลย ถ้ามีเพิ่มเนื้อหาอะไรก็ส่งไปที่ international (แนวทางนี้เหมือนมาเลเซีย)
- Procedure code เหมือนเป็นระบบที่ทำเอง มีความ legacy หน่อย ๆ ใช้เพื่อการเบิกจ่ายเป็นหลัก เขาบอกยังไม่ได้ใช้ SNOMED CT สำหรับเรื่องนี้
- เขาบอกมีพัฒนา drug code เป็นของตัวเอง แต่ผมจำชื่อไม่ได้
- มีใช้ระบบ DRG สำหรับการเบิกจ่าย
- NEHR ที่กล่าวไปข้างต้น พัฒนาโดย IHiS ทำงานแบบ real-time เลย เขาสาธิตให้ดูคือเซฟข้อมูลใน Epic ปุ๊ป เปิดเว็บ NEHR ข้อมูลใน visit นั้นก็มาโผล่เลย NEHR นี้เป็นช่องทางหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งประเทศ ในระบบที่ไม่ได้ใช้ Epic วิธีการทำงานเท่าที่ถามคือมีการ pool data มาอยู่ตรงกลาง แต่ถ้าเป็น data ที่ขนาดใหญ่ เช่น ภาพเอ็กซเรย์ ก็จะใช้วิธีเก็บไว้ที่สถานพยาบาลนั้น ๆ จะดูค่อยเรียกเอา
- การส่งข้อมูลเข้าไป NEHR เป็นระบบส่งโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องคอยกด submit (อันนี้จะตรงข้ามกับของออสเตรเลียที่ต้องกด submit เลือกเอาเฉพาะอันที่จะส่งจริง ๆ) ไม่แน่ใจว่าการจัดการพวก privacy ทำยังไงบ้าง
- ข้อมูลที่ส่งไปที่ NEHR มีค่อนข้างเยอะเหมือนกันครับ แต่โดยหลักการคือเป็น summary ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด ไม่แน่ใจว่าใช้มาตรฐานอะไรบ้างในการส่ง
Infrastructure
- ระบบ infra ทั้งหมดดูแลโดย IHiS
- เท่าที่ฟัง ผมเข้าใจว่าระบบ Epic ทั้งระบบนี้ทำงานอยู่บนระบบคลาวด์ของภาครัฐชื่อว่า Government commercial clound (GCC) ตอนนี้กำลังจะย้ายไปที่ private cloud เฉพาะเรื่อง healthcare ชื่อว่า Healthcare commercial cloud (HCC)
- แต่ละสถานพยาบาลไม่มีการทำ data center ภายในสถานพยาบาล
- อย่างไรก็ดี มีการเตรียมการรับมือระบบล่มหลายชั้นมาก และถ้าเกิดล่มขึ้นมาจริง ๆ ก็มีแผนการทำงานแบบใช้กระดาษอยู่ โดยมีการซ้อมแบบ table top ทุกปี (ไม่ได้ซ้อมแบบปิดระบบจริง เพราะกลัวผลกระทบเกิดกับคนไข้)
- มีพูดเรื่อง technical หลาย ๆ เรื่อง ผมฟังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ พวก Passive optical network (PON), Wi-Fi 6E, private 5G, medical device security ฯลฯ
- บอกวิธีการจัดการกรณีที่ medical device มีความเก่าแล้วไม่ยอม patch OS ของตัวเอง เหมือนเป็นการทำผ่าน Firewall เรียกว่า virtual patching ซักอย่าง กระบวนการจัดการพวก patch ของเขาก็ดูมีขั้นตอนเยอะดี
- ไม่อนุญาตให้คอมภายในต่ออินเตอร์เน็ตทั้งหมด ถ้าจะใช้ต้องเข้าผ่าน browser พิเศษ (ผมคิดว่าหลักการทำงานน่าจะคล้าย ๆ remote ไปที่อีกเครื่องที่อยู่ในอีกโซน) หรือให้ใช้อุปกรณ์พกพาของตนเอง แต่ถ้าใช้ Wi-Fi ของรพ.ก็จะเข้าได้เฉพาะเว็บไซต์ที่เขา whitelist ไว้เท่านั้น
- เรื่องระบบเครือข่าย ผมจำไม่ค่อยได้ว่ามีกี่ระบบ แต่จำได้ว่า Epic ได้เครือข่ายของตนเองเลยหนึ่งอัน และ middleware ที่เข้ามาต่อก็ได้อีกหนึ่งอัน มีการจัดการ segmentation อะไรไปตามระบบ
- อุปกรณ์หลาย ๆ อย่างมีติด RFID สำหรับติดตาม และอุปกรณ์ใด ๆ ที่จะต่อเข้ากับเครือข่ายต้องได้รับอนุญาตจากไอที ยกตัวอย่างเช่น มีแผนกที่มีกล้องดิจิทัลติดไว้กับคอมเลยเพื่อถ่ายรูปแผล ถ้าจะถอดกล้องนั้นออกก็ไม่สามารถเอากล้องอื่นมาต่อได้ ต้องเป็นกล้องที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
Workforce
- เขาดูมีการฝึกคนมาทำงานด้าน informatics ค่อนข้างเยอะ ทั้งหมอและพยาบาลที่อยู่ตามแผนกต่าง ๆ ผมคิดว่าคนเหล่านี้น่าจะเป็น champion หรือ superuser ตอนที่เขาขึ้นระบบ พอขึ้นระบบเสร็จก็เป็นคนดูระบบต่อเลยตามแผนกต่าง ๆ
- มีตำแหน่ง data concierge เข้าใจว่าช่วยให้ clinician ใช้งาน BI (Slicerdicer) ทำงานได้ ผมว่าเป็นไอเดียที่ดีและเอาไปประยุกต์ใช้กับงานด้านอื่นได้
Facility Design
- Facility design หลายไอเดียน่าสนใจ เช่น ไอซียูมีช่องทางให้เข็นขนไข้ผ่านสวนได้, ทุกห้องไอซียูมีหน้าต่างมองเห็นสวน, ที่วอร์ดทุกเตียงมีหน้าต่างเห็นข้างนอกได้แม้เป็นวอร์ดรวม, ทุกห้องไอซียูคุมความดันได้, ในลิฟท์มีปลั๊กไฟ ถ้าเข็นขนไข้อยู่แล้วไฟดับก็ต่อเครื่องช่วยหายใจได้เลย เป็นต้น
- รถ code blue มี point-of-care ultrasound ต่อ iPad, ventilator พร้อมต่อ, เครื่องตรวจการปั๊มหัวใจ ทั้งหมดเชื่อมกับ Epic หมด
น่าจะประมาณนี้ครับ ประเด็นเท่าที่ผมเก็บได้ เนื่องจากทั้งเครือข่ายรพ.ทั้งหมดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และเท่าที่ไปดูมาก็แค่ส่วนเล็ก ๆ ไม่กี่ส่วน ผมเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจภาพใหญ่ของ ecosystem ระบบทั้งหมดของเขาเหมือนกันครับ แต่โดยรวมก็ค่อนข้างประทับใจครับ