เนื่องจากผมทำงานและเรียนต่อในสายงานด้าน Healthcare technology ก็เลยให้ความสนใจเรื่องเทรนด์, อนาคตวงการแพทย์, innovation อะไรพวกนี้ครับ ในภาพใหญ่ของวงการ healthcare มีเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ากำลังเป็นเทรนด์มากในปัจจุบัน ก็คือเรื่อง “Value-based Health Care” ครับ หาคำแปลเป็นไทยไม่เจอเลยขอแปลเป็น “การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า” ละกันนะครับ
(จริง ๆ ในยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 มีคำว่า value-based health care นี้อยู่ด้วยนะครับ แต่ผมไม่สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ เลยไม่แน่ใจว่าหมายถึงเรื่องเดียวกันหรือเปล่านะครับ)
ข้อมูลใน Blog นี้หลัก ๆ ผมนำมาจาก 3 แหล่งนะครับ ทั้งหมดเป็นงานของศ.ไมเคิล พอร์เตอร์ (Michael E. Porter) ท่านใดสนใจศึกษาจากต้นฉบับได้ครับ 🙂 จะมีรายละเอียดเยอะกว่าใน blog นี้มาก
- The Strategy That Will Fix Health Care – Harvard Business Review
- Michael Porter on “Value Based Health Care Delivery” – Youtube
- Value-Based Health Care Delivery – Institute For Strategy And Competitiveness – Harvard Business School
Highlights
- Value-Based Health care (VBHC) เกิดจากแนวคิดที่ว่าระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันไม่เอื้อให้เกิด value สูงสุดต่อคนไข้ ระบบบริการสุขภาพในยุคหน้าจำเป็นต้องคิดใหม่ทำใหม่ในระดับโครงสร้าง
- Value คือ ผลลัพธ์การรักษา (outcome) ต่อเงินที่ลงไป (cost)
- คุณภาพ (quality) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิด value ยิ่ง quality สูง outcome ยิ่งดีและ cost ยิ่งต่ำ
- การจะไปถึง VBHC ได้ อาศัย strategy 6 อย่าง คือ 1. การจัดหน่วยบริการใหม่ 2. การวัดผลแบบใหม่ 3. การจ่ายเงินแบบ bundle payment 4. การบูรณาการข้ามสถานพยาบาล 5. การขยายบริการออกนอกพื้นที่ 6. การมีระบบ IT ที่ดีคอยสนับสนุน
- สำหรับประเทศไทยคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปถึงความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้
.
Value ใน Health care
ข้อเสนอเรื่อง Value-based health care (VBHC) นี่จริง ๆ มีมาเป็นสิบปีแล้วครับ สาเหตุก็คือปัญหา health care cost ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ในขณะที่ผลลัพธ์ของการรักษา (outcome) ก็ไม่ได้ดีมาก ปัญหานี้หนักมากในสหรัฐอเมริกา จึงมีความพยายามในการคิดใหม่ทำใหม่ว่าสิ่งที่ทำมาแบบเดิม ๆ โครงสร้างการบริการทางการแพทย์แบบเดิม ๆ การจ่ายเงินแบบเดิม ๆ มันอาจไม่ถูกต้อง ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ นิยามว่าอะไรคือเป้าหมาย (goal) ที่สำคัญที่สุดในระบบบริการสุขภาพ สำหรับ VBHC นี้ goal ก็คือ การทำให้ value สำหรับคนไข้สูงที่สุดครับ
Today, 21st century medical technology is often delivered with 19th century organization structures, management practices, measurement methods, and payment models
Value คือ Patient health outcome per dollar spent
ถ้าใครเคยได้ยินคำว่า Accountable Care Organization (ACO) ที่กำลังฮิต ๆ อยู่ตอนนี้ จริง ๆ ก็คือความพยายามในการทำ VBHC แบบหนึ่งครับ

สิ่งที่สไลด์ข้างต้นพยายามจะสื่อก็คือ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (access) ที่มาก ก็ไม่จำเป็นว่าต้องให้ผลลัพธ์ที่ดี ถ้าทุกคนเข้ารับการรักษาได้แต่ไม่มีใครหายซักคน แบบนี้ก็คงไม่ดี หรือการพยายามควบคุมราคา (cost containment) ก็ไม่จำเป็นต้องให้ผลลัพธ์ที่ดีด้วยเช่นกัน ดังนั้น value ที่แท้จริง ก็คือการมีผลลัพธ์การรักษาที่ดี และใช้เงินน้อยในกระบวนการทั้งหมด (คำว่า Outcome และ Cost นี่มีรายละเอียดของมัน เดี๋ยวจะอธิบายในส่วนต่อ ๆ ไปนะครับ)
Value สัมพันธ์กับ Quality
โดย common sense เราอาจคิดว่า ยิ่งอยากเพิ่ม quality ในการรักษาให้มาก cost น่าจะยิ่งเพิ่ม (อยากได้ของดีก็จ่ายแพง) แต่ความเป็นจริงก็คือ ยิ่งระบบสุขภาพที่มี quality ที่ดี cost ยิ่งจะลดนะครับ สาเหตุก็เพราะ คนป่วยน้อยเพราะมีการป้องกันที่ดี, พอป่วยแล้วก็รักษาได้เร็วไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา, มีความผิดพลาดระหว่างการรักษาน้อย, พอออกจากรพ.แล้วก็ไม่มีปัญหาตามมา, ฯลฯ พอมีปัญหาน้อย ก็เลยไม่ต้องรักษา ไม่รักษาก็ไม่มี cost ครับ
Quality ที่ดี ทำให้เกิด Outcome ที่ดี และลด Cost → สองอย่างนี้ก็คือการเพิ่ม Value นั่นเองครับ ดังนั้น Quality คือสิ่งที่สำคัญมากใน VBHC
.
The Value Agenda
ก็คือ Strategy ในการที่จะไปถึง VBHC ได้ครับ ประกอบด้วย 6 อย่าง

ข้อ 6 คือสิ่งที่จะ support ให้ 1-5 เกิดขึ้นได้ ไม่มีข้อ 6 ข้ออื่นก็เกิดไม่ได้ครับ นี่เลยเป็นสาเหตุให้เรื่อง eHealth เป็นประเด็นร้อนมาก ๆ ในอเมริกาตอนนี้ ซึ่ง interoperability ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญมาก ๆ (อ่านเพิ่มเติมใน blog: เชื่อมต่อข้อมูลทางการแพทย์ด้วย Health Informatics Standard)

.
1. Integrated Practice Units (IPUs)
ปัญหาของระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันก็คือเป็นการจัดโครงสร้างตามความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการ มากกว่าจะจัดตามปัญหาของผู้ป่วย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีความ fragmentation ของบริการ ผู้ป่วยจะกลายเป็นเหมือนลูกปิงปองที่ถูกโยนไปโยนมาระหว่างหน่วยต่าง ๆ, เกิดการ delay การรักษา, เกิดความซ้ำซ้อน (เช่น ตรวจเรื่องเดิมซ้ำ ๆ) ในสถานพยาบาลที่ต่างกัน, ต้องเสียค่าบริหารจัดการ (administrative cost) ทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้ให้บริการ, ฯลฯ
รูปแบบการจัดบริการที่ดีกว่าก็คือการรวมศูนย์บริการที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ที่เดียวกัน เช่น เป็น headache center ก็มีแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด ฯลฯ เข้ามาอยู่ในหน่วยบริการเดียวกันเลย ถ้าสิ่งไหนที่อาจรวมเข้ามาได้ลำบาก ก็ใช้วิธี affiliate (สถานพยาบาลในเครือข่าย – จะกล่าวถึงในหัวข้อถัด ๆ ไปครับ) ทั้งหน่วยบริการนี้มีหน้าที่ทำให้ value สำหรับคนไข้สูงที่สุด ดูแลคนไข้ทั้ง cycle ของโรคนั้น ๆ และมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อคนไข้ (joint accountability) ไม่ใช่มีปัญหาก็โทษกันไปมา

IPUs และ Primary Care
Concept ของ IPUs สามารถประยุกต์ใช้กับ Primary Care ได้โดยการจัดบริการสุขภาพตามกลุ่มประชากร เช่น IPUs สำหรับคนไข้โรคเรื้อรัง, IPUs สำหรับคนไข้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นต้น
IPUs จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการสถานพยาบาล
เพราะจำนวนคนไข้ (volume) ที่มารับบริการจะเพิ่มขึ้น VBHC เชื่อว่าโครงสร้างการบริการแบบเดิมที่สถานพยาบาลเดียวทำทุกอย่าง เช่น แผนก Orthopedics ก็ทำตั้งแต่เปลี่ยนข้อสะโพก ข้อเข่า ผ่าตัดกระดูก ผ่าตัดหลัง ฯลฯ สภาพแบบนี้ทำให้เกิดสภาพทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้ดีจริง ๆ ซักอย่าง ในต้นฉบับจริง ๆ จะมีตัวอย่างครับว่าการจัดองค์กรในรูปแบบที่ทำแค่อย่างเดียว จะทำให้เกิด outcome ที่ดีกว่าทำทุกอย่างใน cost ที่ต่ำกว่า (สร้าง value ได้มากกว่า) ได้อย่างไรบ้าง

อธิบายภาพด้านบนแบบสั้น ๆ ก็คือ ถ้าสถานพยาบาลไหนสร้าง value ได้มาก คนไข้ก็อยากไปรักษาด้วย พอมีคนไข้โรคหนึ่ง ๆ เยอะ โรงพยาบาลนั้นก็มีความเชี่ยวชาญในโรคนั้นมาก ก็สามารถสร้าง value ได้มากขึ้น มีอำนาจต่อรองกับ payor (บริษัทประกัน, โครงการประกันสุขภาพภาครัฐ) มากขึ้น สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ เมื่อ value มากขึ้น คนไข้ก็ยิ่งมากขึ้น วนเป็นวงจรไป
.
2. Measuring Outcomes and Cost
การวัดคุณภาพการดูแลสุขภาพในปัจจุบันเน้นวัดที่กระบวนการ (process) เช่น โรงพยาบาลสามารถดำเนินตาม Guideline ได้มากน้อยแค่ไหน หรือวัดที่ outcome อย่างหยาบ ๆ เช่น วัด 5-year survival แต่ไม่วัดคุณภาพชีวิตในช่วงนั้น ๆ ซึ่งการวัดเหล่านี้ยังไม่สามารถครอบคลุม outcome และ cost ได้อย่างเพียงพอ
การวัด Outcomes ที่ดี
แบ่งเป็น 3 ระดับ


ระดับที่ 1: ภาวะสุขภาพที่มีหลังการรักษา (Health Status Achieved or Retained)
รักษาแล้วรอดมากน้อยขนาดไหน, ถ้ารอดแล้วสภาพเป็นยังไงบ้าง อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ปกติหรือเปล่า (เช่น ผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วมีเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร), ฯลฯ
ระดับที่ 2: กระบวนการพักฟื้น (Process of Recovery)
มี readmission มากน้อยขนาดไหน, ใช้เวลานานเท่าไรในการกลับเป็นปกติ, มีภาวะแทรกซ้อนอะไรหรือไม่, ถ้าต้องไปรพ. สามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยเร็วหรือไม่, ฯลฯ
ระดับที่ 3: ความยั่งยืนของสุขภาพ (Sustainability of Health)
รักษาไปแล้วสุขภาพดีอยู่นานเท่าใด, มีกลับมาเป็นซ้ำหรือเปล่า, มีโรคอะไรตามมาหรือเปล่า
การวัด outcome นี้ถ้าจะให้ดีต้องมีการวัดอย่างเป็นระบบ มีการเปิดเผยข้อมูล และมีการเปรียบเทียบระหว่างสถานพยาบาลต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่น, ภูมิภาค, หรือระดับประเทศ นอกจากนี้ การวัด outcome ที่ดีควรมีส่วนร่วมโดยคนไข้ (Patient Reported Outcome Measures, PROMs) ในปัจจุบันที่นิยมทำกันก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยครับ เช่น ให้คนไข้บันทึก health status ของตัวเองได้ในเว็บหรือแอพ
จริง ๆ สวีเดนทำเรื่องนี้ได้ดีมากนะครับ ไว้มีโอกาสจะเขียนถึงเรื่อง National Quality Register ในสวีเดนนี้ครับ
.
การวัด Cost ที่ดี
การวัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นการทำโดยหน่วยงานที่มีการแยกขาดจากกัน เช่น วัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในขณะ admit, ค่าใช้จ่ายที่ primary care เป็นต้น แต่ไม่มีใครรู้ค่าใช้จ่ายจริง ๆ ทั้งกระบวนการตั้งแต่สถานพยาบาลแรกจนสถานพยาบาลสุดท้าย สำหรับคนไข้หนึ่งคนในโรคนั้น ๆ
นอกไปจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่สถานพยาบาล ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากสำหรับโรค ๆ หนึ่งนะครับ เช่น ค่าเดินทาง, ค่าเสียเวลา, ค่าสิ่งของที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
วิธีการวัดที่ VBHC เสนอก็คือ Time-Driven Activity-Based Costing (TDABC) ครับ ไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ

สไลด์ด้านล่างนี้ดีครับ โอกาสในการลด cost ใน Health care

.
3. Bundled Payment
รูปแบบการจ่ายเงินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Fee-for-service หรือ Capitation (เหมาจ่ายรายหัว) ก็ไม่ส่งเสริมให้เกิด value ครับ Fee-for-service คือ สถานพยาบาลทำอะไรมาก็เบิกจ่ายเท่านั้น โรงพยาบาลก็มีแนวโน้มจะดำเนินการรักษาที่ไม่ได้จำเป็นกับคนไข้ เพื่อจะได้เบิกเงินได้เยอะ ๆ ส่วน Capitation โรงพยาบาลก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ค่าใช้จ่ายต่อคนไข้แต่ละคนต่ำที่สุด
วิธีที่ดีกว่าคือ Bundled payment หรือก็คือจ่ายมาเป็นก้อน สำหรับคนไข้แต่ละคน สำหรับโรค ๆ หนึ่ง เบิกจ่ายให้ IPUs สำหรับโรคนั้น ๆ ตาม value ที่สร้างได้ (pay-for-value) ก็คือให้เงินมาก้อนหนึ่ง ทุกคนที่ร่วมดูแลคนไข้คนนี้มีส่วนแบ่งในเงินก้อนนี้ วิธีนี้เป็นสร้างแรงจูงใจให้เกิดความร่วมมือในสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ value ของคนไข้สูงที่สุด เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกสถานพยาบาล

ตัวอย่างการนำระบบ bundled payment ไปใช้ใน Stockholm

.
4. Integrate Care Delivery Across Separate Facilities
การจะก่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างสถานพยาบาล ต้องมี 4 อย่างครับ

4.1 กำหนดขอบเขตการบริการใหัชัดเจน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นสถานพยาบาลเดียวที่ทำได้ทุกอย่างนั้นทำให้เกิดปัญหาทำได้ไม่ดีซักอย่าง สิ่งที่ควรทำคือเลือกทำแค่บางอย่างแล้วหาความร่วมมือกับสถานพยาบาลอื่น ๆ เช่น โรงเรียนแพทย์ควรยกเลิกการตรวจโรคที่ไม่ซับซ้อนให้โรงพยาบาลทั่วไปเป็นคนตรวจ หรือรพ.ที่เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจ ก็ควรตรวจแต่โรคหัวใจ
4.2 รวมผู้ป่วยกลุ่มเดียวกันไปรับการบริการที่เดียวกัน
หลังจากขั้นที่ 4.1 ที่แต่ละสถานพยาบาลเลือกแล้วว่ามีความเชี่ยวชาญด้านไหน การที่สถานพยาบาลจะอยู่รอดได้ในทางการเงิน จำเป็นต้องมีจำนวนผู้ป่วยที่มากพอ ดังนั้นจึงต้องส่งผู้ป่วยที่เป็นโรคหนึ่ง ๆ ไปรักษาที่สถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในโรคนั้น ๆ ผลคือผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี สถานพยาบาลอยู่รอดได้
4.3 เลือกสถานพยาบาลให้เหมาะสมกับบริการ
ความเหมาะสมก็คือ เหมาะสมในแง่ความฉุกเฉิน, ความซับซ้อนของโรค, ความสะดวกของคนไข้, ฯลฯ เช่นการส่งเคสที่ไม่ซับซ้อนไปให้โรงพยาบาลทั่วไป ยกตัวอย่างการกระจายคนไข้ของ The Children’s Hospital of Philadelphia ที่มีโรงพยาบาลในเครือข่ายจำนวนมาก จึงลดการทำหัตถการและการตรวจหลาย ๆ อย่างออกจากโรงพยาบาล โฟกัสเฉพาะโรคที่ซับซ้อน

4.4 บูรณาการการดูแลข้ามสถานพยาบาล
จำเป็นต้องออกแบบการบริการให้ดี เช่น ผู้ป่วยอาจไปรับการประเมินและการผ่าตัดที่โรงพยาบาลหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญ แต่ไปพักฟื้นที่อีกโรงพยาบาล และติดตามการรักษาที่คลินิกใกล้บ้าน เป็นต้น
.
5. Expand Areas of Excellence Across Geography
ก็คือสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่ง ๆ ไม่จำเป็นต้องให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น แต่ควรขยายความเชี่ยวชาญนั้นไปที่บริเวณอื่น ๆ ด้วย โดยการใช้ระบบ Affiliate (สถานพยาบาลเครือข่าย) ก็คือการให้ staff ของโรงพยาบาลแม่ข่ายบางส่วนหมุนเวียนเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลเครือข่าย แล้วใช้ระบบการบริหารจัดการ การติดตามคุณภาพ แบบเดียวกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ตัวอย่างของระบบแบบนี้คือ Cleveland Clinic ที่ขยายบริการผ่าตัดหัวใจไปทั่วฝั่ง East coast ของอเมริกา อยู่ที่ไหนก็สามารถรับการผ่าตัดหัวใจด้วยคุณภาพระดับเดียวกับผ่าที่ Cleveland ได้

.
6. Build an Enabling Information Technology Platform
หากท่านใดอ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะพอเห็นภาพว่าทั้ง 5 ข้อที่ผ่านมา มันจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีระบบ IT ที่มีประสิทธิภาพเป็นฐานให้ ระบบไอทีนี้ต้องมีศูนย์กลางที่ผู้ป่วย ก็คือประวัติการรักษาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่กับผู้ป่วยไม่ใช่สถานพยาบาล

.
ตัวอย่างการดำเนินการด้าน Value-Based Health Care
Karolinska Hospital, Stockholm, Sweden
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยผมเองครับ น่าจะเป็นที่แรกในสวีเดนเลยมั้งครับที่ดำเนินการแบบ VBHC เต็มรูปแบบ ลองดูการดำเนินงานของเขาได้ในวิดีโอนี้ครับ
Accountable Care Organizations (ACOs)
อธิบานสั้น ๆ คือการรวมกลุ่มกันของหลาย ๆ สถานพยาบาล (รวมตั้งแต่ primary care, โรงพยาบาล, post-acute care center) เพื่อให้บริการผู้ป่วย และเบิกจ่ายด้วยระบบ bundled payment ร่วมกัน ถ้าผู้ป่วยมี outcome ที่ดี ทุกสถานพยาบาลใน ACO ได้ประโยชน์ร่วมกัน ผมว่าเป็นการดำเนินงานด้าน VBHC ที่เป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว อ่านเพิ่มเติมดูได้ใน Wikipedia ครับ
.
ความเห็นผมและการปรับใช้กับเมืองไทย
IPUs
ในการนำไปปฏิบัติใช้จริงคงไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ เท่าไหร่นะครับ อย่างถ้าบอกว่าจะให้แต่ละสถานพยาบาลเลือกทำเฉพาะสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญไม่ต้องทำทุกอย่าง ผมก็ยังนึกภาพไม่ค่อยออกนะครับว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหนในไทย สมมติรพ.อำเภอนี้รับไป 10 โรค อีกรพ.รับไปอีก 10 โรค แบบนี้ก็แปลก ๆ อีกอย่างคือบ้านเราไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่สะดวกขนาดที่จะเดินทางข้ามพื้นที่กันได้ง่าย ๆ นัก (คือในเมืองที่การคมนาคมดี ๆ อย่าง Stockholm นี่ จะไปรพ.ใกล้บ้านกับไกลออกไปหน่อยมันก็ไม่ได้ใช้ความพยายามต่างกันเท่าไหร่ไงครับ)
ความพร้อมด้าน eHealth
อันนี้เรื่องใหญ่มาก ๆ คือถ้าไม่ได้มี eHealth infrastructure ที่ดี ที่ว่ามาทั้งหมดนี่แทบจะทำไม่ได้เลยครับ ผมว่าด้วยสภาพปัจจุบันนี่เอาแค่ health information exchange ข้ามรพ.กันได้เนียน ๆ ก่อนก็ยังดีครับ
การวัด Outcome และ Cost
จะวัดแบบที่เสนอมานี่ ไม่ง่ายนะครับ ต้องการการลงแรงที่หนักพอควรทั้งทาง management และ technical ถ้าวัด outcome และ cost ไม่ได้ก็ทำ bundled payment ลำบากไปด้วยแหละครับ
.
สรุป
ผมว่าเรื่อง VBHC นี่เป็นเรื่องที่กำลังเป็นเทรนด์มาก ๆ นะครับ เพราะเป็นสิ่งที่คนตั้งความหวังว่าจะมาหยุดวิกฤติ health care cost ในอเมริกาและช่วยพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาได้ ฟัง lecture เกี่ยวกับ U.S. health care นี่จะเจอเรื่องนี้บ่อยมาก แต่กระแสนี้ไม่ได้อยู่แค่ในอเมริกานะครับ ในยุโรปเองก็มีข่าวความพยายามจะ implement เรื่องนี้มาเรื่อย ๆ เช่น ใน Stockholm ก็มี Karolinska Hospital ที่กล่าวไป
สำหรับประเทศไทย ยังไม่ค่อยเห็นคนพูดเรื่องนี้มากนัก และจะสามารถปรับใช้อย่างไรกับประเทศไทยก็คงต้องมีการศึกษากันต่อไปครับ
สำหรับ blog นี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไร มีคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะอย่างไรบอกได้นะครับ 🙂 ไว้พบกันใหม่โอกาสหน้าครับ
ขอบคุณสำหรับการแบ่งปัน เป็นเรื่องที่น่าขบคิด สำหรับตัวเองมีเรื่องที่ปิ๊งขึ้นมาคือ คิดถึงจิกซอนึงคือตัวผู้ป่วย หากคนหนึ่งคนเกิดขึ้นมาแล้วรู้ว่า ตัวเองมีเงินในการดูแลรักษาอยู่ที่เท่าไหร่ที่รัฐจ่ายให้ และเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก เพื่อเข้ามาบริหารเงินส่วนนี้เพื่อสุขภาพตนเอง มันจะเป็นอย่างไง คิดเล่นๆดูนะคะ
ไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกไหมนะครับ แต่อ่านดู concept มีส่วนคล้ายเรื่อง Health Savings Account (HSA) นะครับ แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียวครับ 🙂
เป็นบทความที่ดีมากเลยค่ะ ตามบทความภาษาอังกฤษมาสักระยะ และอยากให้กระทรวงสาธารณสุขได้มีโอกาศนำไปพิจารณา ขออนุญาติแชร์นะคะ
ขอบคุณครับ ^.^
ปล. Value Based Healthcare ใน Thailand 4.0 ลองอ่านดูแล้วไม่ตรงกับในเนื้อหานี้นะคะ
ดีมากๆครับ. ขณะนี้สาสุขไทยเริ่มมีแนวคิดว่าจะadapt มาใช้ในไทยอย่างไร. โดยเฉพาะในการจ่ายค่าตอบแทนprimary care ที่เป็นpcc มีคนนำเสนอเรื่องepisode based payment. ซึ่งก็คือbundle payment. และมีหลักการของvalue based HC
ขอบคุณที่มีบทความดีๆ มาให้อ่านนะคะ น่าสนใจมากค่ะ
ขอบคุณสำหรับข้อความดีๆค่ะ
ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่ลงบทความดีๆให้อ่าน
อาจารย์สนใจมาเป็นจิตอาสาช่วยพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยครับ ผมขอเชิญชวนอาจารย์มาเป็นจิตอาสาช่วยกันพัฒนาระบบกลไกการจ่ายในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนี้เรากำลังเดินหน้าพัฒนาระบบกลไกการจ่ายแบบใดรูปแบบ value based payment ในส่วนการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ผมเชื่อว่าถ้าอาจารย์มาร่วมทีมช่วยกัน กระผมนี้จะประสบความสำเร็จครับ
ขอแสดงความนับถือ
นายแพทย์ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์
ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและปฏิรูประบบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข
ขอบคุณมากเลยครับอาจารย์ที่ชวนผมครับ ขออภัยด้วยครับที่ตอนนี้ผมอาจจะไม่ค่อยสะดวกเท่าใดครับเพราะกำลังจะเริ่มงานที่ใหม่ ซึ่งอาจต้องโฟกัสกับงานพอสมควรครับ แต่ถ้าในอนาคตงานเริ่มลงตัวและผมพอจะช่วยอะไรได้ก็ยินดีนะครับ
ขอบคุณครับพี่ ได้ไอเดียไปต่อยอดทำวิจัยเลยครับ ชี้แนะด้วยครับ
พอดีได้รับมอบหมายให้มาพูดเรื่อง Value-based เฉพาะโรคในงานประชุมวิชาการที่ ธีมเป็นเรื่อง value-based พอได้ยินคำนี้ก็ถามใครก็ไม่ได้คำตอบถึงความหมาย อ่านใน paper ของMichael Poter แล้วพอดีมาเจอบทความนี้ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น ขออนุญาตนำหัวข้อและเนื้อหาบางตอนไปใช้ในงานบรรยายด้วยครับ
ยินดีครับ ^.^
ขอบคุณครับ
ติดตามนะคะ เป็นบทความที่สรุปสาระให้ข้อเสนอกับเมืองไทยได้ดีคะ
ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะสำหรับการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ครั้งนี้ ขออนุญาตแบ่งปันให้คนอื่นๆต่อนะคะ
ขอบคุณค่ะ ขอติดตามบทความที่สาระดีๆ แบบนี้ไปตลอดนะคะ