พอดีช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ให้ต้องค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง IT for diabetes care เล็กน้อยครับ ก็พบว่าหลาย ๆ อย่างก็น่าสนใจดีเหมือนกัน จึงนำมาสรุปรวมเป็นบทความนี้ครับ จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่กว้างอยู่เหมือนกันครับเพราะคำว่า “สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน” นี่อยู่ที่เราจะเลือกมองมันในมุมไหน ตั้งแต่การดูแลตนเองของคนไข้, การจัดบริการของสถานพยาบาล, ไปจนถึงการกำหนดนโยบาย ซึ่งทุกระดับมันก็เอา IT เข้าไปช่วยได้หมด สำหรับบทความนี้ผมจะเน้นไปที่ tool เพื่อการดูแลคนไข้มากกว่านะครับ
Highlights
- โรคเบาหวานเป็นโรคที่การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยมีผลอย่างมากต่อ outcome ของการรักษา ดังนั้นการสร้าง mHealth intervention ใดขึ้นมา ควรมีจุดหมายสร้างให้เกิด patient empowerment จึงจะเป็น solution ที่ยั่งยืน และเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ป่วย
- เนื่องจากมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ outcome ของโรคเยอะ จึงมักไม่มีแอพใดแอพเดียวที่ทำงานได้สมบูรณ์แบบในทุกอย่าง คนไข้เบาหวานจึงมักต้องใช้แอพหลายตัวร่วมกัน เป็นความท้าทายในเชิง interoperability
- ในแง่ธุรกิจ ปัจจุบันไม่น่ามีตลาดให้แอพอย่างเดียวแล้ว ผู้พัฒนามักจะต้องขายร่วมกับ device อื่น ๆ หรือขายพร้อมกับ service อื่น ๆ เช่น coaching
- อาจยังมีตลาดในกลุ่ม niche, deep tech, หรือการทำตลาดใน emerging market
.
mHealth และ Patient Empowerment
เรื่องที่เป็นที่สนใจของสังคมมากที่สุดผมว่าก็คงเรื่อง mHealth นี่แหละครับ หรือการใช้อุปกรณ์พกพา (มือถือ, wearable devices ต่าง ๆ) เข้ามาช่วยในการดูแลคนไข้ ซึ่งเราก็ต้องนิยามเป้าหมาย (goal) ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ก่อน แน่นอนว่าถ้านิยามเป้าหมายสูงสุดจริง ๆ ก็คงเป็นสุขภาพที่ดีขึ้นของคนไข้ (health) ทีนี้เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่ผลลัพธ์ของการรักษา (outcome) เป็นผลมาจากการปฏิบัติตัวของคนไข้เยอะมาก ดังนั้นการที่เราจะทำให้คนไข้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนได้ สำหรับผมเอง ผมมองว่าเป้าหมายหลักของ mHealth ใน diabetes care คือการสนับสนุน patient empowerment ครับ (ไม่มีทฤษฎีรองรับอะไรนะครับ อันนี้ผมสรุปเอง😅)
มีคนนิยามคำว่า patient empowerment ไว้หลากหลายมาก (เช่น WHO) แต่ส่วนตัวผมชอบคำอธิบายที่บอกว่า patient empowerment ประกอบด้วย 3 อย่าง คือ 1) คนไข้มีความรู้เกี่ยวกับโรคของตนเอง (education) 2) คนไข้ใช้ความรู้นั้นในการจัดการกับโรคของตนเองได้ (self-management) 3) คนไข้มีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาร่วมกับบุคลากรทางสาธารณสุข (shared decision-making)

เพราะถึงแม้ว่า IT solution นั้นจะดีขนาดไหน track ค่าน้ำตาลของคนไข้ได้สมบูรณ์แบบ รู้หมดว่าวันนี้กินอะไร สุขภาพเป็นอย่างไร ถ้าตัวคนไข้เองไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการรักษา ไม่ได้เข้าใจในตัวโรคหรือไม่ได้ต้องการที่จะมีสุขภาพที่ดีเท่าใด ก็ไม่สามารถทำให้การรักษาได้ผลดีอย่างยั่งยืนได้อยู่ดีครับ คืออาจจะดีได้ในระยะสั้น ๆ เช่น สมมติมีแคมเปญใช้ fitness tracker ในการติดตามปริมาณการออกกำลังกายเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง (เช่น เงินรางวัล) พอไม่มีเงินรางวัลนั้นเขาก็เลิกอยู่ดี (จริง ๆ มีงานวิจัยด้วยซ้ำนะครับว่าถึงแม้มีเงินรางวัล คนก็เลิกอยู่ดีเมื่อทำไประยะหนึ่ง ถ้าเขาไม่ได้อยากจะเปลี่ยนแปลงจริง ๆ) ดังนั้น solution ที่ยั่งยืนต้องก่อให้เกิด patient empowerment ครับ
.
App เบาหวานในปัจจุบัน
ฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องใน diabetes care
สิ่งที่แอพพอจะช่วยได้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานหนึ่งคน ก็จะมีประมาณนี้ครับ บางแอพก็จะมีอยู่หลายฟีเจอร์ บางแอพก็ทำมาเพื่อเรื่องเดียว
- การติดตามระดับน้ำตาล – รวมถึงสัญญาณชีพ ค่าแล็บอื่น ๆ อาจบันทึกโดยคน หรือมีการ sync อัตโนมัติกับอุปกรณ์ที่ใช้วัด
- การติดตามเรื่องอาหารการกิน – แอพสาย nutrition tracker นี่กว้างมากครับ, มีตั้งแต่ป้อนข้อมูลเอง สแกนบาร์โค้ด, ถ่ายรูปอาหาร, สารพัดวิธีป้อนข้อมูล
- การติดตามเรื่องการออกกำลังกาย – ก็คือพวก fitness tracker, coaching
- การลดน้ำหนัก – เพราะคนไข้เบาหวานมักจะน้ำหนักเกิน
- การรับประทานยา – เช่น กินยาครบหรือไม่ หรือการเช็คว่ามี drug-interaction อะไรหรือเปล่า
- การให้คำแนะนำที่เหมาะสม – เรื่องนี้ค่อนข้างกว้างครับ ตั้งแต่การให้ความรู้เกี่ยวกับตัวโรค ไปจนถึงการใช้ข้อมูลที่มามาออกเป็น personalized suggestion เช่น ตอนนี้น้ำตาลเท่านี้ อาหารมื้อต่อไปควรเป็นอย่างไร
- การคัดกรองภาวะแทรกซ้อน – เป็น area ที่มีโปรเจคท์ machine learning มาเกี่ยวบ่อย ๆ ครับ เช่น คัดกรอง Diabetes retinopathy โดยใช้ภาพตรวจจอประสาทตา, คัดกรอง Diabetes foot โดยภาพแผล เป็นต้น
- การดูแลด้านสังคมและจิตใจ – เช่น diabetes community, social network, หรือการบำบัดโดยนักจิตวิทยา
Personal Health Records (PHRs) – การบันทึกข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล อันนี้ยาวครับ
จริง ๆ ข้อ 1-3 นี่ แอพเบาหวานดัง ๆ ก็มักจะมีนะครับ แต่ข้อ 2-3 นี่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำได้ดีเท่าแอพที่ออกแบบมาเพื่อเรื่องนั้นโดยเฉพาะ ข้ออื่น ๆ ก็เช่นกันครับ ยิ่งเป็นแอพที่พยายามทำหลายอย่าง ยิ่งกลายเป็นเยอะเกิน และทำออกมาไม่ดีซักอย่าง
.
Interoperability issue
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าผลลัพธ์การรักษาของเบาหวาน เป็นผลมาจากพฤติกรรมของคนไข้สูงมาก ซึ่งแต่ละเรื่องก็เป็นเรื่องที่ทำ solution ได้ไม่ง่าย เช่น จะทำแอพที่บันทึกอาหารที่ดี ๆ ก็ไม่ง่ายแล้ว ต้องมีฐานข้อมูลสารอาหารของอาหารทั่วโลก เป็นต้น (ไม่งั้นก็ scale เป็น global product ไม่ได้)
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีแอพเดียวที่ตอบโจทย์การดูแลคนไข้เบาหวานได้เป็นองค์รวมโดยสมบูรณ์ และไม่มีแอพไหนทำได้ดีในทุกเรื่อง ดังนั้นคนไข้เบาหวานจึงมักต้องใช้แอพหลาย ๆ ตัวร่วมกัน เช่น track น้ำตาลใช้แอพหนึ่ง, track อาหารใช้อีกแอพ, ออกกำลังกายก็อีกแอพ ซึ่งปัญหาที่เกิดก็คือเรื่อง interoperability เช่น การลงข้อมูลซ้ำซ้อน – ข้อมูลบางอย่างลงไปแล้วในแอพนึงก็ยังต้องมาลงในอีกแอพนึงอีกรอบ แทนที่จะ sync กันได้หมด

มองไปในอนาคตยาว ๆ สิ่งที่ควรจะเกิดก็คงเป็นมาตรฐานกลางในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างแอพต่าง ๆ (จริง ๆ ผมว่า Apple Health หรือ Google Fit ก็เป็นความพยายามในการทำเรื่องนี้ครับ) หรือก็คือการทำให้คนไข้เป็นเจ้าของข้อมูลของตนเองอย่างแท้จริง สามารถเลือกได้ว่าจะแชร์ข้อมูลอะไรให้แอพไหน บน platform อะไร ซึ่งผมว่าอันนี้อีกยาวกว่าจะไปถึง (ไม่ค่อยเกี่ยว แต่ของเนียนขายบล็อกนี้ด้วยครับ เชื่อมต่อข้อมูลทางการแพทย์ด้วย Health Informatics Standard 😅)
.
หมดยุคแอพอย่างเดียว
ถ้าเป็นซัก 10 ปีก่อน จะทำแอพบันทึกค่าน้ำตาลออกมาแอพนึงแล้วหวังว่าจะเป็น startup ระดับโลกก็พอเป็นไปได้อยู่ครับ แต่ยุคนี้เป็นไปได้ยากมากแล้วที่จะทำแอพอย่างเดียวแล้วรุ่ง เราจะเห็นเทรนด์ในปัจจุบันอยู่ 2 อย่าง
1. Device จะมีแอพแถมมาให้ด้วย
ในยุค Internet of Things แบบนี้ เครื่องซักผ้ายังจะต่ออินเตอร์เน็ตได้ พวกเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดความดัน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ออกใหม่ ๆ ในยุคนี้ก็ต่อกับ smartphone แล้วมีแอพมาให้หมดแล้ว ดังนั้นจึงไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไหร่ที่จะต้องไปใช้ third-party app (ยกเว้นว่าแอพนั้นจะมี value เพิ่มเติมจริง ๆ)
2. App + service
หลาย ๆ บริษัทแอพในปัจจุบัน ไม่ได้ขายแค่แอพอย่างเดียวแล้ว แต่ขายพ่วงเป็น App + service เช่น บริการ coaching เพื่อให้คนไข้เบาหวานกินอาหารได้ดีขึ้น ออกกำลังกายถูกหลักมากขึ้น เป็นต้น
หมายเหตุ
- ถ้าจะทำแอพอย่างเดียว ผมว่ายังมีที่ว่างอยู่สำหรับแอพที่ niche หน่อย นึกไม่ออกเหมือนกันครับ อาจจะเป็นพวกแอพสำหรับเบาหวานที่มี condition พิเศษร่วมด้วย อะไรแบบนั้น แต่ต้องยอมรับว่าถ้า niche มันก็จะ volume ไม่เยอะนะครับ
- หรือไม่ก็แอพสาย deep tech ทั้งหลาย ที่เป็นการนำ data ที่แอพหรือ device อื่นเก็บรวบรวมมา นำไปต่อยอดเป็น value อื่น ๆ
- ผมว่าก็อาจจะยังพอมีตลาด ถ้าจะนำโมเดล App + service มาทำในประเทศไทย แต่ไม่มีตัวเลขเหมือนกันนะครับว่าจะคุ้มไหม อย่างไร
.
ตัวอย่าง Commercial solution ในปัจจุบัน
อ่านคำบรรยายผมอาจไม่ค่อยเห็นภาพ แนะนำว่าลองเข้าเว็บเขาแล้วดูคลิปอธิบายประกอบครับจะเห็นภาพมากขึ้น
mySugr
- น่าจะเป็นแอพเบาหวานที่เป็นที่นิยมที่สุดแล้วครับ ฟังก์ชั่นหลัก ๆ ก็คือเอาไว้บันทึกน้ำตาล แต่ก็มีบันทึก activity และอาหารด้วยได้ ใช้ได้ฟรีและมี subscription รายเดือนเพื่อเข้าถึงฟังก์ชั่นเพิ่มเติม
- นอกจากแอพ logbook บริษัทยังมีแอพอื่น ๆ ในเครืออีกเยอะที่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน ตั้งแต่ให้ความรู้, sync กับ device อื่น ๆ, ไปจนถึง coaching โดย certified diabetes educator
- เมื่อเดือนก.ค. 2560 ที่ผ่านมาเพิ่งมีข่าว Roche (big pharma) เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่า 100 ล้านเหรียญ (แต่จริง ๆ สองบริษัทนี้เขามีความสัมพันธ์กันมายาวนานหลายปีแล้ว) Roche ซื้อไปเป็นส่วนหนึ่งของ Diabetes Unit แต่บอกว่ายังให้อิสระในการทำงานต่อไป
.
Glooko
- เป็น Diabetes management system ที่มีทั้งแอพสำหรับคนไข้ และเว็บสำหรับคนไข้, สถานพยาบาล, และ payers
- มี device สำหรับต่อกับอุปกรณ์ของบริษัทอื่น ๆ บริษัทเคลมว่าแอพเชื่อมต่อกับเครื่องวัดน้ำตาลและ wearable device ในตลาดได้ 80+ ชนิด
- ตัวแอพก็บันทึกระดับน้ำตาลอาหาร, activity ฯลฯ ได้เหมือนแอพเบาหวานอื่น ๆ
.
One Drop
- เป็น complete solution ประกอบด้วย เครื่องเจาะน้ำตาล + strips, mobile app, และบริการ coaching ทั้งหมดนี้รวมมาเป็น service เก็บเงินแบบ subscription model (แต่เลือกซื้อแยกได้ด้วยเช่นกัน)
- มีเว็บสำหรับให้สถานพยาบาลใช้เช่นกัน
.
Livongo
- Complete solution เช่นกัน ขายเครื่องเจาะน้ำตาลและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อม cloud service และบริการ coaching, consulting แต่อันนี้ดูจะเน้นทำเครื่องให้ใช้ได้โดยไม่ต้องพึ่ง smartphone
- มี solution สำหรับองค์กรด้วยเช่นกัน
.
จริง ๆ มี solution อีกเยอะมากนะครับ ทั้งสาย software และ hardware อันนี้นำมาให้ดูพอเป็นไอเดียครับ
.
Big Data for Diabetes Care
ในเชิง clinical care มีงานของ Cichosz, S et al. ปี 2016 ทำการรีวิวการสร้าง predictive models สำหรับการทำนาย short-term (hypoglycemia) และ long-term complication (ตา, หัวใจ, ไต, ปลายประสาท) ของเบาหวานได้น่าสนใจครับ ท่านใดสนใจดูว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับ big data ใน diabetes care อะไรบ้างแล้ว ลองดูเปเปอร์ฉบับเต็มได้ในลิงค์ครับ
ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- American Diabetes Association and IBM Watson Health Join Forces to Reimagine How Diabetes is Prevented and Managed (Link)
- The Alexa Diabetes Challenge (Link)
- Verily and Sanofi just launched a new company to tackle diabetes care (Link)
สำหรับผมเอง ผมมองว่าการจะใช้ predictive model พวกนี้ใน clinical practice จริง น่าจะอีกซักระยะครับถึงจะเริ่มเห็นในต่างประเทศ ส่วนในไทยเองนี่ยิ่งยากใหญ่เลย ถ้าจะมีในเร็ว ๆ นี้ก็อาจเป็นงานวิจัยป.โทหรือป.เอกของใครซักคน ไม่ก็เป็น solution ที่ซื้อมาจากต่างประเทศมากกว่า
.
เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่กำลังเป็นเทรนด์
จริง ๆ อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกับหัวข้อเท่าไหร่ แต่ผมว่าน่าสนใจดีครับ
1. Artificial pancreas
หรือก็คือการต่อ Continuous glucose monitoring (CGM) เข้ากับ insulin pump ให้เป็น closed loop ครับ เมื่อปีที่แล้ว Medtronic MiniMed 670G ก็เพิ่งผ่าน FDA ให้จำหน่ายเครื่องนี้แบบถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก (แต่ความพยายามทำกันแบบ DIY นี่มีมานานแล้วนะครับ เช่นพวก Nightscout, OpenAPS) เทคโนโลยีนี้จริง ๆ มักใช้ในเบาหวาน Type 1 มากกว่า

2. Non-invasive CGM
ที่มีข่าวออกมาก็เช่น contact lens วัดระดับน้ำตาลของ Alphabet (Google), Apple เองก็กำลังทำอะไรบางอย่างอยู่, หรืออย่างอันนี้ (จริง ๆ ไม่ได้ถือว่า non-invasive เพราะก็ยังเจาะผิวหนังอยู่) FreeStyle Libre ครับ วัดระดับน้ำตาลจาก interstitial fluid แทน เป็น sensor เล็ก ๆ ไปติดที่แขน ใช้สำหรับวัดระดับน้ำตาล ติดได้ 14 วัน เวลาจะอ่านค่าก็เอาเครื่องอ่านไปจ่อ
3. Beta-cell transplant
อันนี้สาย clinical care ผมจะไม่ค่อยรู้แล้วครับ 55 แต่เห็นบ่อย ๆ ในสไลด์เลยนำมาลงด้วย
4. Ketogenic diet
อันนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามันถูกต้องในทางการแพทย์มากน้อยขนาดไหนนะครับ แต่เห็นกำลังฮิตใน Silicon Valley เช่น Virta Health (Link ข่าว)
.
อ่านเพิ่มเติม
- 2016 – Empowering Diabetes Patient with Mobile Health Technologies
- 2015 – Managing diabetes in the digital age
- 2013 – The current status of mHealth for diabetes: will it be the next big thing?
- 2013 – A systematic review of IT for diabetes self-management: are we there yet?
.
สรุป
โรคเบาหวานก็เป็นโรคหนึ่งที่มี burden of disease สูงแหละครับ ซึ่งทำให้เป็นตลาดที่ใหญ่และมีผู้เล่นเยอะในทุกระดับ ส่วนตัวผมเอง ผมมองว่าเรามาถึงจุดอิ่มตัวแล้วของการใช้ประโยชน์จาก mobile device ในการช่วยการดูแลรักษาผู้ป่วย อาจยังมี solution ใหม่ ๆ ออกมา แต่น่าจะมาแนว incremental innovation จากของเดิมมากกว่า (เช่นเดียวกับ innovation สาย mobile อื่น ๆ) แต่อีกซักพักเราคงเข้าถึงรอบของเทคโนโลยีชุดใหม่ ก็รอดูกันต่อไปครับว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเข้ามาช่วยในการดูแลอย่างไร 🙂
ขอขอบคุณภาพ featured image โดย Jascha Huisman จาก Unsplash