ช่วงสมัยเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ผมเคยเขียนเรื่องนี้ครั้งหนึ่งครับ ตอนนั้นเป็นบริบทของกทม.ก็เลยอาจจะเสนอให้ทำอะไรมากไม่ได้ รอบนี้เป็นบริบททั้งประเทศ แม้ว่าบริบทจะต่างออกไปแต่หลาย ๆ อย่างก็คล้ายของเดิมครับ ไม่แน่ใจว่าพรรคใดจะได้ดูแลเรื่องสธ.นะครับ อย่างไรก็ดี อันนี้เป็นข้อเสนอสำหรับทุกพรรคครับ และต้องบอกว่าความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานที่ผมสังกัดนะครับ
(ภาพ featured image โดย D koi ที่ Unsplash)
รวมปัญหาใต้พรมที่ต้องแก้
ผมคิดว่าที่เราแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพกันไม่ได้ทุกวันนี้ เป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งของปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ เรื่องนี้ปัญหาทางการบริหารมากกว่าเป็นปัญหาทางเทคโนโลยีครับ
หากผมยก framework ของ WHO-ITU มา จะพบได้ว่าเรามีปัญหาในแทบทุกกล่อง

Governance
เรื่องนี้ผมยกให้เป็นปัญหาหมายเลข 1
- healthcare มี stakeholder เยอะมาก แค่ฝั่งรพ.ก็มี 6 กระทรวงแล้วที่มีรพ.อยู่ในสังกัด การเบิกจ่ายภาครัฐมี 3 กองทุน การทำเรื่อง digital health ยังไปเกี่ยวกับหน่วยงาน IT อีกมาก การจะทำให้ stakeholder เหล่านี้ทำงานร่วมกันได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมี governance mechanism ที่ดี
- Governance mechanism นี้ แต่ละประเทศดำเนินงานต่างกัน อ.บุญชัยจากสมสท.เคยศึกษาเรื่องนี้ หลัก ๆ แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบครับ 1) หน่วยงานใต้กระทรวงสธ. 2) หน่วยงานด้าน digital ของประเทศ (เช่น เอสโตนีย) 2) หน่วยงานอิสระเรื่อง digital health โดยเฉพาะ (เช่น national digital health agency ของประเทศต่าง ๆ) ทั้งนี้ ไม่มี mechanism ไหนที่ดีที่สุดนะครับ ขึ้นกับบริบทของประเทศนั้น ๆ
- ผมคิดว่า governance mechanism เป็นสิ่งจำเป็นต้องมี แต่ต้นตอของปัญหาจริง ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ 1) รูปแบบการแบ่งโครงสร้างองค์กรภาครัฐ ที่มีหน่วยงานเยอะเกินไป และทำหน้าที่ซ้ำซ้อน นำมาซึ่งความขัดแย้งด้านอำนาจในประเด็นต่าง ๆ 2) กฎระเบียบและวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่เอื้อให้คนทำงาน ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้จริง ๆ ต้องปฏิรูประบบราชการทั้งหมดไปพร้อม ๆ กันกับการสร้าง governance mechanism ทาง digital health
- ประเด็นสำคัญที่ผมอยากเน้นย้ำคือ เรื่องนี้ สธ. ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ครับ ต้องดึงหลายฝ่ายมาก ๆ มาทำไปด้วยกัน คุมสธ. ได้ไม่ได้แปลว่าจะทำเรื่องนี้ได้
Strategy and Investment
พอ governance ไม่ดี ด้านอื่น ๆ ก็มีปัญหาตามมา
- เรามี national digital health strategy 2021-2025 ปัญหาคือกระบวนการจัดทำ strategy นั้นเป็นอย่างไร มีหลักฐานทางวิชาการหรืองานวิจัยที่ทำกับบริบทในไทยสนับสนุนประเด็นต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด เมื่อได้ strategy ออกมาแล้ว การกำหนด action plan มีความเหมาะสมหรือไม่ สังคมมีความเข้าใจ strategy หรือไม่ และมีการนำไปปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
- หลังจากมี strategy สิ่งที่ควรมีอันดับต่อไปคือ enterprise architecture (EA) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นพิมพ์เขียวของการพัฒนาระบบทั้งหมด อันนี้ไม่แน่ใจว่ามีไหม แต่ดูจากระบบต่าง ๆ ที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่กระทรวงสธ. และอื่น ๆ พัฒนาก็ดูไม่ได้ไปทางเดียวกันเท่าไหร่
- เรื่องเงินนี่ก็ไม่ทราบยังไงครับ เหมือนไม่มีเงินจะทำอะไรเลย ทุกฝ่ายดูต้องรอลุ้นงบพิเศษต่าง ๆ
- ผมคิดว่าต้นตอของปัญหาคือ 1) วิธีการในการดำเนินโครงการไอทีภาครัฐทั้งหมด 2) วิธีการจัดสรรงบ 3) ความอ่อนแอของฝั่ง academic ด้าน health IT จึงไม่ค่อยมีคนทำวิจัยที่เข้ากับบริบทไทย ผู้กำหนดนโยบายจึงต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลที่จำกัด
Services and Applications
พอ strategy มีปัญหา เรื่องนี้ก็ตามมา
- เรามีการพัฒนาแอพเยอะแยะมากมาย แต่เชื่อมโยงกันไม่ค่อยได้
- ความไม่ชัดเจนว่าประเด็นไหนรัฐควรทำเอง ประเด็นไหนควรทำตัวเป็น enabler หรือ regulator ให้เอกชนทำ
- พอจะให้เอกชนทำ ก็ขาดความชัดเจนว่าแบบไหนคือเอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่ม แบบไหนคือ public-private partnership
Standards and Interoperability
- ขาดการลงทุนด้านนี้อย่างมาก เช่น สมสท.ที่พัฒนา Thai Medicines Terminology (TMT) ก็ไม่ได้รับงบจากหน่วยงานใด ต้องหาทางเลี้ยงตนเองแต่ละปี แทนที่จะไปทำงานหลักคือพัฒนามาตรฐาน
- หน่วยงานที่พัฒนาก็มีหลายหน่วย ยกตัวอย่างเรื่องยาที่มีหลายหน่วยงานออกมาตรฐาน แทนที่จะบูรณาการกันได้
- ในบทความที่แล้วผมยก architecture ของ OpenHIE มาอธิบายว่าเราแทบไม่มีอะไรเลยในกล่องขอบสีเทา ผ่านมา 1 ปีกว่า ๆ เราก็ยังไม่มีอยู่อย่างนั้น
- ผมคิดว่าต้นตอของปัญหาคือ คือ 1) เรื่อง standards เป็นเรื่องที่จับต้องประโยชน์ได้ยาก สิ่งที่จับต้องได้ง่ายกว่าคือ application ซึ่งแม้จะออกมาดีได้ยากหากไม่มี standards แต่สังคมอาจไม่ได้สนใจเท่าใดว่า app ดังกล่าวนั้นดีหรือไม่ ผู้บริหารจึงรู้สึกว่าแค่ได้ผลงานก็เพียงพอแล้ว 2) ผู้เกี่ยวข้องไม่เข้าใจว่างานพัฒนา standard เป็นงานที่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง ไม่ใช่สร้างครั้งเดียวเสร็จ

Infrastructure
- แม้ว่าอินเตอร์เน็ตจะมีการเข้าถึงแล้วค่อนข้างมาก และตามสถานพยาบาลห่างไกลก็พอจะมีคอมพิวเตอร์ใช้อยู่บ้าง แต่ปัญหาคือ infrastructure ที่ใช้รันระบบรพ.ในสถานพยาบาลเหล่านี้ก็ยังขาดแคลน บางแห่งเครื่อง server ตั้งอยู่ที่พื้นห้องเจ้าหน้าที่ ขีดความสามารถในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทำได้จำกัด
- หรือแม้เป็นรพ.ที่มี data center ที่ดี พอจะแลกกันจริง ๆ เราก็ต้องมี infrastructure ขนาดใหญ่อีกชุดหนึ่ง อย่างน้อย ๆ แต่ละจังหวัดหรือแต่ละเขตก็ควรมี server ไว้ exchange ตรงนี้
- จริง ๆ สิ่งที่ควรจะเป็นคือแต่ละรพ. ควรจะมี clinical data repository (CDR) ที่สามารถแลกเปลี่ยนกับภาคส่วนอื่น ๆ อยู่ในความดูแลด้วยซ้ำครับ เช่น จะทำแอพที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็มาเชื่อมกับ CDR ของรพ.ได้เลย
Legislation
- เรื่องนี้ผมไม่ค่อยมีความรู้ครับ ขอผ่าน แต่เท่าที่รู้สึก ก็คือความตามโลกไม่ค่อยจะทัน พอตามไม่ทันก็ห้ามไปก่อน เช่น เรื่องแบบ telemedicine ทุกวันนี้ก็ยังมีประเด็นที่งง ๆ อยู่อีกเยอะ
- เรื่องการแชร์ข้อมูลให้คนไข้นี่ จริง ๆ จะบังคับเป็นกฎหมายก็ได้ด้วยซ้ำครับ มีทางไปได้หลายทาง ใน US มีห้าม information blocking หรือในออสเตรเลียเป็นระบบแชร์ข้ามสถานพยาบาลโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องสมัคร ยกเว้นมาขอถอนออก (opt-out)ไต้หวันใช้กลไกการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นตัวบังคับใช้มาตรฐาน
- ผมคิดว่าถ้า governance mechanism ดีพอ จะสามารถดึงหน่วยงานที่สามารถให้คุณให้โทษกับสถานพยาบาล เช่น สรพ. (HA) หรือกองทุนต่าง ๆ (สปสช. กบก. ปกส.) เข้ามาเป็นกลไกในการผลักดันเรื่องข้อมูลได้ ทุกวันนี้ต่างคนต่างทำพอสมควร
- รวมถึงภาคเอกชน ต้องหาทางให้เขายอมแชร์ข้อมูลออกมา
Workforce
- หนึ่งในเรื่องที่เป็นปัญหาที่สุดแล้ว บุคลากรไอทีของภาครัฐไม่สามารถแข่งขันด้านรายได้กับเอกชน ยิ่งเป็น healthcare IT ยิ่งไม่ได้มีตำแหน่งมี career path อะไรให้เขา
- หรือถ้าจะไม่ใช่พนักงานของรัฐ ก็ต้องหาทางทำให้บุคคลภายนอกเขาอยากมาทำงานด้วย ไม่ใช่ขอให้เขาช่วยแต่ไม่มีงบให้ หรือมีงบแต่ระเบียบเราให้ได้เท่านี้ คนเก่ง ๆ ถ้าไม่ได้ใจรักจริงเขาก็คงไม่มา
- ฝั่งมหาวิทยาลัยเอง ในไทยยังไม่ค่อยมีหลักสูตรด้าน health informatics
- ในแง่กระบวนการทำงานก็ค่อนข้างมีปัญหา เช่น ประชุมแบบเชิญคนเยอะ ๆ แต่ประชุมทั้งวันไม่มีอะไรจับต้องได้ ขาดการควบคุมการประชุมที่ดีแล้วหัวข้อการสนทนาก็ไหลไปเรื่อย หรือการบริหารโครงการไอที ก็ไม่ได้มีการอบรมการสอนให้เจ้าหน้าที่เข้าใจ
- ต้นตอของปัญหาก็ไปถึง 1) ระบบ HR ของภาครัฐและของมหาวิทยาลัยทั้งหมด 2) ระบบการทำงานวิจัยในประเทศไทย 3) ระบบการอบรมวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอ
สมมติตั้งโจทย์ว่าก่อนหมดวาระที่เป็นรัฐบาล จะต้องวางรากฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ได้ยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็น quick win ให้เป็นผลงานด้วย ผมเสนอดังนี้ครับ
ปีที่ 1: วางโครงสร้างและเตรียมงาน
Governance
- ต้องหาผู้นำระดับสูงที่เอาจริงเรื่องนี้ อันนี้สำคัญมาก เป็น key success factor อย่างนึงตามการศึกษาของอ.บุญชัย
- ผู้นำระดับสูงดังกล่าว เข้ามาผลักดัน governance mechanism โดยอาจเลือกใช้กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันไปก่อน แต่ภายในปีนี้ควรได้ข้อสรุปหากลไกที่จะทำได้โดยยั่งยืน หากจำเป็นต้องตั้งหน่วยงานใหม่ (เช่น national digital heatlh agency) ควรตั้งหน่วยงานดังกล่าวให้ได้ในปีแรกนี้
- เริ่มแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน (ซึ่งอาจต้องไปใช้กลไกอื่น) เช่น การปฏิรูประบบราชการ การจัดโครงสร้างองค์กรภาครัฐใหม่ทั้งหมด และแก้ระเบียบการดำเนินงานภาครัฐต่าง ๆ วิธีการจัดการระบบสารสนเทศภาครัฐ การจัดการด้าน HR เป็นต้น
Strategy
- ใช้ governance mechanism ที่มี กำหนด digital health strategy ที่ดี และทำ enterprise architecture (EA) ของงานด้าน healthcare ทั้งหมด พร้อมเตรียมงบประมาณ และวางแนวทางการบริหารโครงการในภาพใหญ่ทั้งหมด
- จัดตั้งคณะทำงานทำเรื่องต่าง ๆ ส่วนตัวผมชอบแนวทางของอินโดนีเซีย ที่ตั้ง digital transformation office (DPO) ขึ้นมาใหม่เลย ทำงานด้วยวัฒนธรรมแบบ tech company จ้างด้วยค่าจ้างเท่าเอกชน มีพนักงานกว่า 200 คน คือเอาจริงมาก ๆ เรื่อง transform
Application
- หากมีการพัฒนา application ใด ๆ ก่อน EA หรือมาตรฐานข้อมูลเสร็จ จะต้องพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงหาก EA หรือมาตรฐานด้านข้อมูลต่าง ๆ เริ่มเสร็จสิ้น
- พัฒนาหรือต่อยอด application ที่จะเป็นการใช้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนข้อมูล จริง ๆ ภาครัฐอาจทำแค่ platform ข้อมูลก็ได้แล้วให้เอกชนทำ frontline app
Standards
- หาข้อสรุปให้ได้ว่าจัดการด้าน health information standards อย่างไร หน่วยงานไหนบ้างจะเกี่ยวข้องกับ standard ด้านไหน จะดำเนินงานอย่างไร จะ governance อย่างไร สร้างกลไกที่จะทำให้งานนี้ได้รับงบประมาณประจำทุกปี
- กำหนดแผนว่าใน 4 ปี จะต้องมีมาตรฐานใดบ้าง ปัจจุบันมีอะไรแล้ว คุณภาพเป็นอย่างไร ต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง อะไรบ้างสามารถนำมาเป็น quick win ได้ในปีแรก
- เริ่มพัฒนามาตรฐาน quick win ทันที หลัก ๆ คือกลุ่มที่จะเอื้อให้นโยบายที่พรรคหาเสียงไว้สามารถเป็นจริงได้
- เริ่มพัฒนามาตรฐานอื่น ๆ ไปพร้อมกัน แต่โฟกัสที่ quick win ก่อน
- มีแผนการ implement มาตรฐานว่าจะทำผ่านกลไกไหน จะออกกฎหมาย จะใช้ incentive (finance, non-finance) หรือจะอย่างไร
- เริ่มคุยกับ HIS vendor ทุกบริษัทในไทยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้มาตรฐาน ให้เตรียมความพร้อม ทำการจัดอบรมให้ทุกบริษัท และเตรียม incentive สำหรับการเปลี่ยนแปลงให้ทั้งรพ.และ vendor
Infrastructure
- เริ่มทำการศึกษาว่าต้องเตรียมหรือซื้อ infrastructure อะไรเพิ่มบ้าง ภายในปีนี้ควรเริ่มกระบวนการจัดซื้อ
- เตรียมความพร้อมสำหรับการปรับปรุงระบบสารสนเทศโรงพยาบาลครั้งใหญ่ เพราะระบบที่มีในปัจจุบันอาจจะยังไม่เอื้อที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีคุณภาพ อาจต้องไปถึงขั้นการมีมาตรฐานด้าน functionality ของระบบสารสนเทศรพ. (เช่น EHR-S-FM) หรือการพัฒนา reference implementation เป็น open source ให้ทุกแห่งใช้ได้
- ต้องสร้างระบบที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลง requirement ด้านข้อมูล ไม่เกิดภาระกับสถานพยาบาล ให้หน้างานก็ทำงานบริการไปแล้ว information ต่าง ๆ เป็นผลพลอยได้ เปลี่ยนโจทย์จาก “จะสร้างมาตรฐานข้อมูลยังไงให้ใช้ได้หลาย ๆ ปีโดยไม่ต้องเปลี่ยน” มาเป็น “จะสร้างระบบยังไง ให้เปลี่ยนมาตรฐานข้อมูลบ่อยแค่ไหนก็ไม่เดือดร้อน” เพราะโลกเปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวัน ความต้องการด้านข้อมูลจะเปลี่ยนเร็วตาม ต้องสร้างระบบที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง
Legislation
- กำหนดให้ชัดว่าประเด็นใดภาครัฐจะทำหรือไม่ทำ ขอบเขตความร่วมมือขนาดไหนจะไม่ถือว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
Workforce
- เตรียมแผนการพัฒนาบุคลากรด้าน digital health ในทุกระดับ ผู้บริหาร, นักพัฒนา, ผู้ใช้, ฯลฯ
- เตรียมทุนวิจัยด้าน digital health ทุนสนับสนุน software developer และสร้างแนวทางการให้ทุน
- ออกแบบ career path ให้คนทำงานด้านนี้
- สร้างกลไกที่จะดึงดูดผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาช่วยงาน สร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม
ปีที่ 2: เริ่มดำเนินงาน และส่งมอบ Quick win
Governance
- น่าจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ต้องแน่ใจได้ว่า mechanism นี้ยังดำเนินต่อไปได้ด้วยดี
Strategy
- เริ่มต้น implement ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยอาจ pilot ที่รพ.ที่มีความพร้อมก่อน อย่างน้อยภายปีนี้ พรรคการเมืองควรสามารถเริ่มดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้ ประชาชนในสังกัดรพ.เหล่านี้ควรได้รับประโยชน์จากข้อมูลเบื้องต้น (กลุ่ม quick win) ของตนเองได้
Application
- สร้าง digital health sandbox ให้นักพัฒนามาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และให้ software developer หรือ HIS vendor ได้มาทดลองใช้งานมาตรฐานผ่านกิจกรรม connectathon
- เริ่ม implement application ที่ได้พัฒนาในปีที่ 1
- ให้ทุนสนับสนุน software developer เพื่อพัฒนา application มาใช้ประโยชน์ต่อยอดจากมาตรฐาน โดยสามารถเชื่อมกับระบบอื่น ๆ ได้ทั้งหมด เพื่อให้เกิด ecosystem และสังคมเห็นประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนข้อมูล (คล้ายกับกรณี คนยิ่งมี app ดี ๆ ให้ใช้เยอะ iPhone ก็ยิ่งน่าใช้)
Standards
- ต้องมีมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเบื้องต้น (quick win) พร้อมให้ implement ได้แล้ว
- เริ่มพัฒนามาตรฐานใน phase ถัด ๆ ไป ในขั้นนี้อาจต้องเริ่มมองที่ข้อมูลที่ยากขึ้น (เช่น ข้อมูลการสั่งยาแบบมี structure ละเอียด) ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น (เช่น ข้อมูล diagnosis) หรือข้อมูลด้านการจัดการหลังบ้าน (เช่น ข้อมูลจำนวนเตียงว่าง อุปกรณ์ที่แต่ละสถานพยาบาล) เน้นประเด็นที่มีความสำคัญสูงแต่มีจำนวนน้อย ตามหลัก 80/20
Infrastructure
- จัดซื้อและติดตั้ง infrastructure ที่จำเป็นทั้งหมดเสร็จสิ้น
- เริ่มปรับปรุงระบบสารสนเทศโรงพยาบาลทั้งหมดไปพร้อมกัน
Legislation
- ไม่มีประเด็นใดเป็นพิเศษ
Workforce
- เริ่มให้ทุนวิจัยเพื่อตอบคำถามยาก ๆ มาประกอบการตัดสินใจของ governance mechanism ถ้าหาคนทำในไทยไม่ได้ก็ต้องจ้างต่างประเทศมาทำ
- ทดลองใช้งาน career path ระบบใหม่
ปีที่ 3: งานส่วนใหญ่สำเร็จ
Governance
- เน้นดำเนินงานที่ได้ทำมาแล้วให้ดี ออกแบบระบบให้ทำให้ต่อเนื่องและยั่งยืน
- นักวิจัยที่ได้รับทุนเริ่มส่งมอบงาน ที่ทำให้ governance mechanism สามารถวางทิศทางการพัฒนามาตรฐานและระบบที่เกี่ยวข้องต่อไปได้
Strategy
- ภายในปีนี้ควรแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพสำคัญทั้งหมดให้ได้ โดยเป็น structured data ทั้งหมด
Application
- software developer ที่ได้รับทุนไปในปีที่ 2 ควรเริ่มส่งมอบ app ต่าง ๆ ที่วางแผนไว้
- เริ่มโครงการพัฒนา application ใน phase 2 ซึ่งมีการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานข้อมูล เช่น ระบบ computable care guideline, ระบบ single care plan เป็นต้น
Standards
- ทีมพัฒนามาตรฐานเก็บตกมาตรฐานที่มีความสำคัญน้อยลง แต่มีจำนวนมาก และค่อย ๆ เผยแพร่ทีละส่วน
Infrastructure
- การปรับปรุงระบบสารสนเทศรพ. ควรสำเร็จเป็นส่วนใหญ่
Legislation
- ไม่มีประเด็นใดเป็นพิเศษ
Workforce
- เริ่มให้ทุนวิจัยที่เป็นการใช้ประโยชน์ขั้นสูงจากข้อมูลที่มีมาตรฐาน และควรหาทางให้มีงบประมาณประจำปีสำหรับงานวิจัยด้านนี้
- เริ่มใช้งาน career path ระบบใหม่
ปีที่ 4: พัฒนาต่อยอด และเตรียมพร้อมรับรัฐบาลใหม่
Governance
- เน้นทำงานต่อเนื่องเช่นเดิม
- ต้องแน่ใจได้ว่า governance mechanism จะยังคงดำเนินต่อไปได้ และกิจกรรมสำคัญที่ได้เริ่มไปแล้วจะต้องมีงบประมาณต่อเนื่อง แม้เปลี่ยนรัฐบาล
Strategy
- ควรบูรณาการข้อมูลได้ทั้งหมดตามที่วางแผนไว้ในปีแรก
Application
- มี application ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะอุปกรณ์หรือ platform ใด หรือพัฒนาโดยใคร ไม่ซ้ำซ้อน บูรณาการข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์กับทุกระบบ
- มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น ที่เป็นผลมาจากการให้ทุนในหลาย ๆ phase
Standards
- มีกลไกการพัฒนาและ maintainence ที่ยั่งยืน มีงบดำเนินงานต่อเนื่อง
Infrastructure
- ปรับปรุงระบบสารสนเทศรพ. เสร็จสิ้นทั้งหมด
Legislation
- ไม่มีประเด็นใดเป็นพิเศษ
Workforce
- มีองค์ความรู้ขั้นสูงในสังคม เกี่ยวกับงานด้าน digital health มีกลไกที่ยั่งยืนที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ
- มี career path ให้คนที่ทำงานด้านนี้
ก็น่าจะประมาณเท่านี้ครับ ประเด็นที่ผมอยากนำเสนอ จริง ๆ มีรายละเอียดอีกมากที่ไม่สามารถใส่ได้ เพราะจะยาวเกินไป ท่านใดมีข้อเสนอแนะติชมหรือแลกเปลี่ยนอย่างไรยินดีนะครับ และหากมี policymaker หรือพรรคการเมืองใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ผมยินดีพูดคุยแลกเปลี่ยนเช่นกันครับ