หลาย ๆ ท่านน่าจะรู้จัก Gartner Hype Cycle อยู่แล้ว ผมเองเพิ่งทราบว่าเขาออกรายงาน Hype cycle สำหรับ healthcare providers ด้วยครับ จริง ๆ รายงานนี้ออกมาตั้งแต่ 5 สิงหาคม 2563 แล้ว ผมเพิ่งได้อ่านครับ โดยอ่านจากการ reprint ของทาง Better ที่หน้านี้ อย่างไรก็ดี อันนี้เป็นการวิเคราะห์ในบริบทของประเทศตะวันตกเป็นหลักนะครับ อาจใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างในบริบทของไทย
(ภาพ featured imageโดย Daniele Levis Pelusi on Unsplash)
รายงานฉบับนี้ผมสนใจ 3 ประเด็นนี้เป็นหลักครับ
- นวัตกรรมที่เข้ามาอยู่ในลิสต์ครั้งแรก จะได้ทำความรู้จักไว้
- นวัตกรรมที่มี priority สูง ๆ ใน priority matrix หมายความว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณค่าสูง และกำลังจะเป็น mainstream เร็ว ๆ นี้
- นวัตกรรมที่อยู่ใน 2 เฟสสุดท้าย (Slope of Enlightenment กับ Plateau of Productivity) เพราะหมายถึงใกล้จะเริ่มมี adoption ใน mainstream แล้ว

ก็ลองมาดูทีละกลุ่มครับ
1. นวัตกรรมใหม่
ปีนี้มี 3 เรื่องได้แก่
Ambient digital scribe
Phase 1 – Innovation Trigger, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: 5-10 ปี, ประโยชน์: สูง
เป็นระบบที่ใช้ AI ในการช่วยบันทึก EHR (เป็นการทดแทนการจ้าง scribe) คือหมอก็ตรวจคนไข้ไปตามปกติเลย แต่การบันทึกข้อมูลเข้า EHR จะทำโดยอัตโนมัติแล้วคัดเอาแต่ประเด็นสำคัญ ๆ มาบันทึก ต่อไปอาจมีการใช้กล้องเข้ามาช่วยด้วย และอาจไปถึง clinical decision support ที่คอยให้คำแนะนำหมอตอนตรวจว่าตรวจอันนั้นอันนี้เพิ่มไหม
Digital health platform (for Providers)
Phase 1 – Innovation Trigger, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: 5-10 ปี, ประโยชน์: สูงมาก
จริง ๆ ประเด็นนี้เป็นธีมที่ Gartner พูดมาหลายปีแล้วใน enterprise software โดยทั่วไป คือ Gartner มองว่า software ที่เป็น monolith หรือ software ที่ขายเป็นแพ็คใหญ่ มีฟีเจอร์ทุกอย่างในนั้น แต่ก็เป็น silo ไม่เชื่อมโยงกับใคร ปรับแต่งอะไรได้ยาก software พวกนี้จะต้องปรับตัวในยุคนี้ ซึ่ง EHR ก็เช่นกัน (ก็คือ HIS ในบ้านเรา)
แทนที่รพ.จะเลือกใช้ software ที่เป็น monolith เจ้าเดียว ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบันจะบีบให้รพ.ต้องใช้ software ที่เป็น packaged business capabilities (PBCs) หรือ software ที่ตอบโจทย์ต่อ business unit ทั้งเก่าและใหม่ที่เกิดขึ้น และสามารถ integrate ระหว่าง software หลาย ๆ ตัวได้ ทั้งที่ซื้อมาใช้หรือพัฒนาขึ้นมาเอง
ประเด็นนี้ผมเคยเขียนถึงแล้วครั้งนึงใน Open Platform ใน Health care ตามแนวทางของ openEHR community คือก็เรื่อง platform เหมือนกันครับ แค่อันนั้นเป็น open platform แต่แนวคิดคือเหมือนกันเลย
Digital twins in healthcare
Phase 1 – Innovation Trigger, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: มากกว่า 10 ปี, ประโยชน์: สูง
ก็คือการสร้างฝาแฝด (ร่างโคลน) ของสิ่งที่เราสนใจขึ้นมาให้เป็นดิจิทัล (ลองอ่านบทความใน TechTalkThai นี้ครับ) รวมถึงมีการเชื่อมต่ออย่าง real-time กับสิ่ง ๆ นั้นในโลกจริง เมื่อเรามีฝาแฝดจำลองเป็นดิจิทัล เราก็สามารถจำลองเหตุการณ์และวางแผนการทำงานต่าง ๆ ได้ แนวคิดนี้สามารถนำมาใช้ใน healthcare ได้มากมาย ตั้งแต่ระดับการดูแลรักษาในแต่ละบุคคล ไปจนถึงการวางแผนจัดสรรทรัพยากร
ของ Gartner จะยกตัวอย่างการทำ real-time health system (RTHS) ผมลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูเหมือนจะเป็นการ integrate ข้อมูลต่าง ๆ แบบ real-time ทั้งข้อมูลทางคลินิก ข้อมูลประสบการณ์ของคนไข้ ข้อมูลทางการบริหาร ข้อมูลจาก IoT หรือ sensor ต่าง ๆ จากนั้นนำมาประมวลผลเพื่อการปฏิบัติงานอย่าง intelligence, real-time, และ adaptive
2. นวัตกรรม high priority
มี 4 เรื่อง
Computer-Assisted Coding (Hospital)
Phase 4 – Slope of Enlightenment, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: น้อยกว่า 2 ปี, ประโยชน์: สูง
ข้อนี้อาจไม่เข้ากับบริบทของไทยนัก ในความเห็นผมเองคือในบริบทของ US การลง diagnosis code และ treatment code ให้ถูก มีความสำคัญมากกับการเคลม (ระบบเคลมเขาหยุมหยิมกว่าเรามาก) ทีนี้เนื่องจากเขาบันทึกข้อมูลลงใน EMR/EHR เป็นหลักอยู่แล้ว การสร้าง tool จากพวก AI ไปประมวลผลข้อมูลใน EMR แล้วช่วยในการลง code ให้ถูกเลยทำได้ และทำแล้วช่วยให้รพ.ได้กำไรมากขึ้น
Algorithmic Medicine
Phase 2 – Peak of Inflated Expectations, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: 2-5 ปี, ประโยชน์: สูงมาก
อันนี้ก็คือ clinical decision support แหละครับ ซึ่งจะเป็น machine learning หรือ rule-based ก็ได้ แค่เป็นระบบที่ใช้ algorithm มาช่วยในการตัดสินใจทางการแพทย์ เช่น การประเมินโอกาส readmission, การประเมินความเสี่ยง sepsis, ใช้ทำ dashboard ใน ICU, ใช้แนะนำการรักษาให้สอดคล้องกับมาตรฐาน พวกนี้เข้ากลุ่มนี้ทั้งหมด
ข้อนี้ผมเห็นด้วยว่ายังไงก็เกิดแน่ ๆ แต่พื้นฐานเรื่อง data standard ต้องดีก่อน
Healthcare Interoperability
Phase 4 – Slope of Enlightenment, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: 2-5 ปี, ประโยชน์: สูงมาก
อันนี้ก็ชัดเจนมากครับ ถ้าเราแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์กันได้ อย่างทันเวลาและมีความหมาย (meaningful) ประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้มหาศาลครับ และเรื่องนี้เป็น backbone สำคัญของอะไรล้ำ ๆ ทั้งหลายที่เราอยากจะทำกัน Gartner มองว่าด้วยการผลักดันเพิ่มเติมจากภาครัฐในปีที่ผ่านมา (ONC NPRM, กฎใหม่ของ CMS) ความพร้อมของเทคโนโลยีที่มากขึ้น (เช่น HL7 FHIR) เรื่องนี้ใกล้จะทำได้สำเร็จแล้ว
ผมเคยเขียนเรื่อง Interoperability ไว้หลายครั้ง สนใจลองดูได้ที่ tag Ineroperability ครับ
Population Health Management Solutions
Phase 3 – Trough of Disillusionment, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: 2-5 ปี, ประโยชน์: สูงมาก
Population health และ value-based healthcare กำลังเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก ก็เลยเกิดพวกเครื่องมือที่จะช่วยในการบริหารจัดการเรื่องนี้ จริง ๆ เนื้อหาส่วนนี้ก็ตอกย้ำแนวคิดเรื่อง digital health platform ในกลุ่มที่ 1 เพราะ ระบบที่มี platform ก็ช่วยตอบสนองต่อ business model หรือ care delivery แบบใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
3. กลุ่มกำลังจะ mainstream
มี 4 เรื่องใน Slope of Enlightenment และ 1 เรื่องใน Plateau of Productivity
Enterprise EHR Systems (Non-U.S.)
Phase 4 – Slope of Enlightenment, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: 5-10 ปี, ประโยชน์: สูง
อันนี้ตรงไปตรงมาครับ คือ Gartner มองว่าการมี EHR ใช้ใน US นี่เลย Plateau of Productivity ไปแล้วด้วยซ้ำ แต่เขามองว่าในหลาย ๆ ประเทศในโลก ก็ยังไม่ได้ adopt EHR ได้มากพอ หรือไม่ได้ใช้ EHR ที่ mature พอ Gartner คิดว่า adoption ของ EHR จะยังมีมากกว่านี้ในอนาคต
OpenNotes
Phase 4 – Slope of Enlightenment, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: 2-5 ปี, ประโยชน์: ปานกลาง
ก็คือการเปิดเผยข้อมูลใน EHR ให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าถึงได้ จริง ๆ ใน US ทำได้เยอะแล้ว แต่ Gartner มองว่าประเทศอื่น ๆ ก็จะทำบ้าง รวมถึงใน US เองก็จะมีการใช้งานที่มากกว่าในปัจจุบัน
Healthcare Interoperability
ข้อนี้ซ้ำกับหมวดก่อนหน้านี้
Computer-Assisted Coding (Hospital)
ข้อนี้ซ้ำกับหมวดก่อนหน้านี้
Real-Time Location in Healthcare
Phase 5 – Plateau of Productivity, ระยะเวลาเป็นกระแสหลัก: น้อยกว่า 2 ปี, ประโยชน์: ปานกลาง
ข้อนี้ก็คือการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาติดตามตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ทั้งคน เครื่องมือทางการแพทย์ สิ่งส่งตรวจ เวชภัณฑ์ ฯลฯ ข้อนี้ผมว่าประโยชน์ก็ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน
(แถม) อันที่ผมว่าน่าสนใจดี
Digital Speech Analysis for Clinical Diagnoses
คือการใช้ AI มาประมวลผลเสียงเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ทั้งโรคทางจิตเวช โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบทางเดินหายใจ
Virtual Health Assistant (VHA), Automated Patient Decision Aids
ผมว่าสองเรื่องนี้ไปด้วยกัน VHA ก็คือการเอา AI มาช่วยในการให้คำแนะนำด้านสุขภาพแบบ personalized แก่คนไข้ ที่เราเห็นเยอะมาก ๆ ในปีก่อนก็คือการประเมิน COVID-19 ด้วยตนเอง ส่วน Automated Patient Decision Aids อันนี้ช่วยในการเปรียบเทียบทางเลือกการรักษาต่าง ๆ ให้คนไข้
Application Marketplace for Healthcare Providers
อันนี้ก็แบบ SMART on FHIR คือเป็น marketplace ที่รวม healthcare app ให้รพ.นำไปใช้ได้ การจะเกิดสิ่งนี้ได้ก็ต้องมีมาตรฐานเช่นกันครับ
Contact Tracing Apps
ดังเพราะ COVID เลยอันนี้
Blockchain in Healthcare
น่าสนใจว่าตอนนี้อยู่ที่ Peak of Inflated Expectations ในรายงานประเมินว่าทุกคนก็เริ่มงง ๆ แล้วว่าจะเอาไปใช้ยังไงดีต่อจากนี้
PHI Consent Management
อยู่ใน Trough of Disillusionment เพราะกระแส privacy กำลังเป็นประเด็นไปทั่วโลก ต้องมี solution ในการจัดการ consent
Real-Time Healthcare Costing
เรื่องค่าใช้จ่ายกับการแพทย์นี่ซับซ้อน แถมประเมินยาก แต่ต่อไปคงต้องมี
จริง ๆ ก็ยังมีนวัตกรรมที่น่าสนใจอีกหลาย ๆ อย่างในรายงานครับ ท่านใดสนใจลองอ่านดูได้
สำหรับผม ถ้าให้ผมมองในเมืองไทยเอง ผมว่าที่น่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทย
- EHR ที่ mature กว่าที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน คือไม่ได้หมายความว่ารพ.เราเป็น paperless แล้วข้อมูลข้างในมันจะดีแล้ว หรือเราได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มากแล้ว ส่วนตัวผมยังมองว่ายังมีช่องให้พัฒนาอีกเยอะมาก แต่ส่วนตัวผมเห็นการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือดในตลาดปัจจุบัน น่าจะเห็นอะไรใหม่ ๆ ได้ในช่วง 5-10 ปีนี้ครับ
- Interoperability อย่างที่บอกครับว่าเรื่องนี้เป็นรากฐานของทุกอย่าง แต่เรื่องนี้จะเกิดได้มันก็ไปผูกกับว่าตอนเก็บข้อมูลแต่แรกเข้า EHR เราเก็บมายังไง ถ้า EHR เราไม่ดี ข้อนี้ก็เกิดยากตามมา แต่เรื่องนี้มันยังมีมิติเรื่องการผลักดันจากภาครัฐเข้ามาเกี่ยวด้วย อันนี้ผมว่าน่าจะเกิดแบบคู่ขนานกันไปกับข้อแรก แต่ผมมองว่าน่าจะเกิน 10 ปีกว่าเราจะมีแบบที่ต่างประเทศมี
- Real-time location ผมว่าอันนี้ก็น่าจะเกิด เพราะก็เริ่มเห็น vendor หลาย ๆ เจ้าพยายามทำ ช่วยลด cost และเพิ่มประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือทำ standalone ได้ไม่ต้อง integrate กับ EHR มาก แบบนี้ implement ง่าย
จริง ๆ อีกหลายอย่างก็คงเกิดในเมืองไทยเพิ่มขึ้นครับ ขอไม่ลงรายละเอียดเพิ่ม 😆 ก็จบแล้วครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ