ในช่วงหลายปีมานี้ มีหลังไมค์มาถามผมพอสมควรเหมือนกันครับว่าสนใจเรียน Health Informatics คืออะไร เรียนดีไหม จบแล้วทำอะไร เรียนไหนดี จึงถือโอกาสนี้ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสาขานี้นะครับ
(Cover photo by Edwin Andrade on Unsplash)
เรียนเกี่ยวกับอะไร
จริง ๆ เขาก็มีนิยามแบบเป็นทางการอยู่แหละครับ แต่ถ้ามีคนถาม ผมมักจะตอบว่า เป็นสาขาที่ว่าด้วย “เราจะนำ IT เข้ามาใช้งานในทางการดูแลสุขภาพได้อย่างไร” (จริง ๆ นี่เป็นนิยามที่ oversimplify นะครับ แต่เอาแบบนี้ก่อน)
การจะนำ IT เข้ามาใช้ในการดูแลสุขภาพได้ ต้องมีการบูรณาการความรู้จากหลาย ๆ ศาสตร์ เช่น health and healthcare, social and behavioral science และ computer science เข้าด้วยกัน
เมื่อมีองค์ความรู้พื้นฐานของ health informatics ก็สามารถต่อยอดไปใช้ในเรื่องต่าง ๆ ได้ เนื่องจาก healthcare ก็เป็นเรื่องที่กว้าง ดังนั้นเราจึงสามารถนำเข้ามาใช้ได้หลายระดับมาก แต่ละระดับก็จะมี subfield ที่เขาเน้นศึกษาเรื่องนั้น ๆ เช่น
- ที่ระดับโมเลกุล ระดับเซลล์ อันนี้จริง ๆ มีสาขา bioinformatics ที่เขาเน้นเรื่องนี้ แต่บางที่ก็จัดหลักสูตรเป็น biomedical and health informatics ซึ่งก็มีเรื่องนี้มาเกี่ยวด้วย
- ที่ระดับอวัยวะต่าง ๆ เช่น การจัดการภาพทางรังสีวิทยา ก็มี imaging informatics
- ที่ระดับการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล เช่น ทำ mobile app สำหรับคนไข้ใช้ หรือคนทั่วไปใช้ดูแลสุขภาพ ก็มี consumer health informatics
- ที่ระดับการบริหารจัดการหน่วยงาน เช่น คลินิก, โรงพยาบาล, แผนกต่าง ๆ ก็มี clinical informatics, dental informatics, nursing informatics, pharmacy informatics
- ที่ระดับสาธารณสุข ก็มี public health informatics
- ที่การจัดการงานวิจัย ก็มี reserach informatics
จะเห็นว่า health informatics มีความเป็นสาขากว้าง ๆ ที่รวมหลาย ๆ เรื่องเข้าไว้ด้วยกัน มากกว่าสาขาที่อาจจะค่อนข้างจำเพาะเจาะจงกว่า เช่น สาขาที่จะกล่าวถึงต่อไป
เปรียบเทียบกับสาขาที่ใกล้เคียงกัน
หลัก ๆ ที่คนมักจะเปรียบเทียบก็มีดังนี้ครับ อันนี้เป็นความเข้าใจของผมเองนะครับ อาจจะไม่ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการมาก
- Bioinformatics: สาขานี้จะเน้นทำงานกับข้อมูล biological data เช่น พวก genomes, โปรตีน, การทำงานของเซลล์ อะไรทำนองนั้นครับ ซึ่งจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลจากมนุษย์ด้วยครับ ส่วน health informatics จะโฟกัสกับส่วนที่ใหญ่กว่านั้น เช่น ข้อมูลสุขภาพของคน ข้อมูลสุขภาพคนในระบบของสาธารณสุข เป็นต้น
- Biomedical engineering: สาขานี้เน้นทำงานกับเครื่องมือแพทย์มากกว่า เช่น การออกแบบเครื่องมือแพทย์, การจัดการเรื่อง biological sensor ต่าง ๆ ที่เครื่องมือทำงานด้วย
- Health information management: สาขานี้เน้นการทำงานกับเวชระเบียนครับ เช่น การจัดเก็บ การควบคุมการเข้าถึง การถอดคำพูด (transcribe) รวมไปถึงการลงรหัสต่าง ๆ (medical coding – มักจะต้อง train เพิ่ม) ซึ่งจริง ๆ เรื่องเหล่านี้ก็มีสอนใน health informatics แต่น่าจะไม่ลงลึกเท่าคนที่เรียนสาขานี้โดยตรงครับ
- Data science in health care: สาขานี้เน้นทำงาน data science โดยเฉพาะ เช่น data mining, A.I., M.L., ฯลฯ ซึ่งจริง ๆ ก็มีสอนใน health informatics เช่นกัน แต่ก็จะไม่ลงลึกเท่าคนที่เรียนสาขานี้โดยตรงครับ อย่างตอนผมเรียน ผมเรียน data science ประมาณ 3 เดือน แน่นอนว่าไม่ลึกเท่าคนที่เรียนเรื่องนี้อย่างเดียว 2 ปี
จบแล้วทำอะไร
หากย้อนกลับไปหัวข้อแรกที่ผมบอกว่า health informatics เป็นสาขาที่ว่าด้วยเราจะนำ IT เข้ามาใช้ในการดูแลสุขภาพได้อย่างไร ซึ่งก็สรุปว่าเรานำ IT เข้ามาใช้ได้หลายระดับมาก ซึ่งในยุคปัจจุบัน ทุกส่วนของระบบบริการสุขภาพล้วนต้องใช้ IT หมดแล้ว
ดังนั้นคำตอบของคำถามข้อนี้ก็คือ ทำงานตรงไหนก็ได้ในระบบบริการสุขภาพเลยครับ
- อยากทำงานบริหาร IT สถานพยาบาล ก็ไปสาย Chief Medical Information Officer (CMIO), Chief Information Officer (CIO)
- อยากทำงานออกแบบ software ก็อยู่บริษัท software ได้
- อยากออกแบบเรื่องระบบข้อมูล ก็ทำงานเรื่องมาตรฐาน (เหมือนงานปัจจุบันของผม)
- อยากทำงานเรื่องนโยบาย ก็ไปกำหนด public health policy, eHealth ของประเทศได้
- เพื่อนร่วมคณะผมหลาย ๆ คนก็ทำงาน data science, system analyst, programmer, UI/UX designer งาน technical ต่าง ๆ
ใครเรียนได้บ้าง
หลักสูตรส่วนใหญ่เท่าที่เห็นจะเป็นปริญญาโทนะครับ โดยรับนักศึกษามาจาก 2 สาย 1) สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2) สายคอมพิวเตอร์ เวลาเข้าไปเรียน ถ้าเป็นสายวิทยาศาสตร์สุขภาพก็จะไปปรับพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ เช่น เรียนเขียนโปรแกรมเบื้องต้น เรียนระบบฐานข้อมูล เรียนเรื่องการวิเคราะห์ระบบ ส่วนถ้ามาจากสายคอมพิวเตอร์ก็จะได้เรียนเกี่ยวกับเรื่องคำศัพท์แพทย์ต่าง ๆ การทำงานของร่างกายเบื้องต้น ไปจนถึง health system เบื้องต้น
จริง ๆ มีหลักสูตรปริญญาตรีเหมือนกันนะครับ แต่คิดว่าน่าจะไม่ใช่ความสนใจของผู้ที่หาที่เรียนต่อครับ อีกกลุ่มที่อาจจะน่าสนใจคือพวก short course/diploma ครับ แต่ในโพสท์นี้ขอเน้นแค่กลุ่มปริญญาก่อนละกันนะครับ
ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หลักสูตร clinical informatics จะนับได้ว่าเป็น sub-specialty ของแพทย์เฉพาะทางของเวชศาสตร์ป้องกัน (preventive medicine) ก็คือเรียนจบก็ไปขอสอบบอร์ดได้ (ซึ่งก็ต้องเป็นแพทย์ในอเมริกาก่อน) แต่ในไทยยังไม่มีระบบนี้ครับ ลองดูรายละเอียดในลิงค์นี้ครับ

เรียนในไทยได้ไหม
ในไทยเท่าที่ผมทราบ (หากตกหล่นที่ใดไปรบกวนแจ้งผมด้วยนะครับ) ที่มีเปิดสอนได้แก่ที่เหล่านี้ครับ
ปริญญาเอก
ปริญญาโท Health Informatics และใกล้เคียง
- Health Informatics คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- Biomedical and Health Informatics คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
- Health Informatics คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- Master of Pharmacy Program in Health Informatics คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปริญญาโท Data Science
- Data Science for Healthcare and Clinical Informatics ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกเเละชีวสถิติ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- Biomedical Data Science โครงการร่วมหลายคณะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
- Health and Biomedical Analytics มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
หลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา – กลุ่มนี้ไม่ค่อยแน่ใจนะครับว่ามีมหาวิทยาลัยไหนเริ่มไปแล้วบ้างครับ ส่วนใหญ่จะมีหลายทางให้เลือก เช่น informatics, data science, biomedical engineering
- โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – อันนี้เปิดแล้วแน่ ๆ ครับ
- โครงการ Hybrid Program 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- วิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- แพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ปริญญาตรี
- Health Data Science วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- Innovation of Medical Informatics นวัตกรรมสารสนเทศทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ถ้าอยากเรียนต่างประเทศทำอย่างไร
ถ้าพอมีเงิน จ่ายเงินเรียนเองก็ดูจะสะดวกที่สุดครับ แต่หากต้องการขอทุน ผมว่าแนวทางหลัก ๆ มีอยู่ 4 ทางครับ
- ทุนก.พ. ของรัฐบาลไทย เป็นทุนผูกมัด กลับมาต้องทำงานใช้ทุน
- ทุนรัฐบาลต่างประเทศ เช่นทุน SI ที่ผมไปเรียนที่สวีเดน (ปัจจุบันไม่ได้ให้นักเรียนไทยแล้ว) ทุนเหล่านี้มักจะให้เปล่า ไม่ต้องกลับมาใช้ทุน และครอบคลุมค่าเรียนและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- ทุนอาจารย์ ของมหาวิทยาลัยไทย เนื่องจากหลายมหาวิทยาลัยกำลังผลิตอาจารย์สาขานี้ จึงมีโอกาสที่จะขอทุนไปเรียนต่อได้ แต่มักต้องเรียนถึงปริญญาเอก และต้องกลับมาใช้ทุน
- ทุนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ทุนเหล่านี้มักไม่ได้ cover ทั้งค่าเรียนและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อาจต้องใช้เงินส่วนตัว ทำงานพิเศษ หรือขอทุนหลายแหล่ง แต่ทุนเหล่านี้มักให้เปล่าเช่นกัน
ถ้าถามผม ควรตั้งเป้าขอทุนให้เปล่าของรัฐบาลต่างประเทศให้ได้ก่อน เช่นพวก Chevening, Fulbright, Erasmus Mundus, DAAD ฯลฯ ถ้าไม่ได้จริง ๆ ค่อยหาทุนผูกมัด แต่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องผูกมัดก็ขอทุนก.พ. หรือทุนอาจารย์ก็ได้เช่นกันครับ หรือหากพอมีทุนส่วนตัว ออกเองส่วนหนึ่งแล้วขอทุนมหาวิทยาลัยต่างประเทศก็เป็นอีกทางที่น่าสนใจครับ
เรียนประเทศไหนดี
ผมว่าหลาย ๆ ประเทศก็มีจุดเด่นเรื่อง digital health ต่าง ๆ กันไปครับ แต่ถ้าให้เชียร์เป็นการส่วนตัว
- US: แน่นอนว่าเขาเหมือนเป็น pioneer เรื่องนี้ก็ต้องนึกถึงเขาก่อน แต่ความเห็นส่วนตัวผม ผมว่าระบบบริการสุขภาพของ US ค่อนข้างแย่ 😅 คือพอระบบพื้นฐานแย่ ระบบ IT ต่าง ๆ เลยต้องพยายามทำขึ้นมาเพื่อพยุงหรือสนับสนุนระบบเดิมที่แย่ ทุกอย่างเลย overcomplicated ไปหมด อีกประเด็นหนึ่งคือ ผมว่าคนจบ health informatics จาก US เยอะแล้ว 😆 มีคนจากประเทศอื่น ๆ มาบ้างจะได้มีมุมมองที่หลากหลายครับ
- UK: ผมชอบ movement ของ NHS digital ในยุคหลัง ๆ มาก และผมว่าระบบบริการสุขภาพของ UK ดีกว่า US อีกอย่างผมไม่รู้จักคนไทยคนไหนเลยที่จบ health informatics จาก UK ดังนั้นส่วนตัวผมเชียร์ให้ไปเรียน UK อันดับ 1 ครับ
- Australia และ New Zealand: ผมชอบงานของ AEHRC หลาย ๆ อย่างเช่นกัน และผมว่าเขาค่อนข้างมี product ที่เกี่ยวกับ SNOMED CT และ FHIR ที่น่าสนใจ คนไทยจบเรื่องนี้จากออสเตรเลียก็น้อย ดังนั้นผมเชียร์โซนนี้อันดับ 2 ครับ
- Germany: ไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับ digital health ของประเทศนี้ แต่ผมชอบโครงการ HiGHmed เป็นการส่วนตัว เชียร์เช่นกันครับ
- Sweden: จริง ๆ เรื่อง digital health ก็โอเคเลยนะครับ เรื่องเมืองนี่คือผมชอบมาก ๆ แต่ทั้งผมและก็อ.ธนภพ (มข.) ก็เรียนที่นี่ไปแล้ว ก็อยากให้ท่านอื่นไปประเทศอื่นมากกว่าครับ 😆
- China, Canada, Estonia, UAE, South Korea, Taiwan, Japan ผมไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับประเทศเหล่านี้เท่าไหร่ แต่คิดว่าน่าจะมีอะไรน่าสนใจครับ
คิดว่าน่าจะครอบคลุมแล้วครับสำหรับคำถามที่มักจะถามบ่อย หากมีประเด็นใดเพิ่มเติมสอบถามได้นะครับ
อ่านแล้วไปแรงบันดาลในในการเรียนต่อเลยค่ะ
ตอนนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าถ้าจะเรียนต่อสาขานี้จะต้องเริ่มยังไง
แต่กำลังศึกษาเพิ่มเติมค่ะ ตอนนี้เป็น GP ปีแรก
ขอบคุณมากนะคะ