รวมคำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังจะมาเรียนต่อป.โทที่ Stockholm, สวีเดน

ตอนนี้ผลการรับเข้าศึกษาต่อในระดับป.โทของมหาวิทยาลัยในสวีเดนก็น่าจะประกาศผลหมดแล้ว ทุน SI ประจำปีก็เพิ่งประกาศผลไปสด ๆ ร้อน ๆ หลาย ๆ ท่านน่าจะได้คำตอบแล้วว่าจะมาเรียนต่อที่สวีเดนหรือเปล่า ตอนก่อนผมจะมาผมก็มีคำถามในใจมากมายครับ โชคดีที่มีพี่ที่เคยอยู่สวีเดนให้คำแนะนำ ตอนนี้ก็อยู่มาจะ 1 ปีแล้ว พอรู้อะไรบ้างเหมือนกัน ก็เลยเขียนออกมาเป็น blog เลยละกันครับ

เนื่องจากผมเรียนที่ Stockholm คำแนะนำต่าง ๆ เลยมีฐานจากที่นี่เป็นหลักนะครับ แต่มันก็น่าจะพอประยุกต์ใช้ได้กับคนที่เรียนเมืองอื่น ๆ อยู่บ้าง

Featured Image Credits: National Day celebration, Ola Ericson/imagebank.sweden.se

.

จากสนามบินเข้าเมือง

  • ถ้าลง Arlanda Airport แล้วอยากประหยัดให้ซื้อ SL card เลยครับ ซื้อแบบเหมา 7 วันหรือ 1 เดือนเลยก็ได้ (เดี๋ยวเล่าเพิ่มในหมวดการเดินทางครับ) แล้วขึ้นรถบัสหมายเลย 583 ปลายทาง Märsta แล้วก็ลงที่สถานี Märsta แหละครับ จากนั้นขึ้น Commuter train ปลายทาง Södertalje C ก็จะไปถึง Stockholm Central ได้ ถึง Central ได้จะไปไหนก็ได้แล้วแหละครับ
  • แต่ถ้าอยากสัมผัส Arlanda Express ซักครั้ง ให้สมกับที่มาทั้งที ก็จัดเลยครับ 260 SEK ต่อเที่ยว (ตอนผมมาครั้งแรกผมก็นั่ง Arlanda Express ครับ อยากลอง 55)
  • รายละเอียดเพิ่มเติมและวิธีเข้าเมืองอื่น ๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้ครับ How to get to Stockholm City from Arlanda airport
รถไฟ Arlanda Express

.

การหาที่พัก

SSSB

ระบบการหาที่พักของนักเรียนใน Stockholm นี้หลัก ๆ จะทำผ่าน SSSB ครับ เป็นองค์กรที่ Student Union ของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยร่วมกันตั้งขึ้น โดยหลักการทำงานของ SSSB ก็คือ

  1. เข้าเว็บไปสมัครสมาชิกให้เรียบร้อย หลังจากนั้นระบบจะเริ่มสะสมจำนวนวัน ไว้ให้เราใช้เป็น credit เพื่อเข้าอยู่ โดยเราสามารถสะสมได้สูงสุด 90 วัน แม้จะยังไม่ได้เป็นสมาชิก Student Union พูดง่าย ๆ ก็คือ สมัครไว้ก่อนได้เลยครับ ราว ๆ มิ.ย. ก็ได้
  2. สมมติเราอยากเข้าอยู่ที่ไหน ก็เข้าไป Browse ในเว็บ กดเข้าไปดูข้อมูลที่อยู่ ลองดาวน์โหลดแบบแปลนมาดูว่าอยู่ตรงไหนของตึก แนะนำว่าให้หาห้องห่าง ๆ จากประตูทางเข้าหรือว่าครัวครับ ไม่งั้นชีวิตจะหาความสงบไม่ได้
  3. สมมติได้ห้องที่ถูกใจแล้ว ก็ดูว่าตอนนี้คนที่ credit day สูงสุดที่กดจองเขาจองที่เท่าไหร่ เราสู้ได้หรือเปล่า จริง ๆ ระบบนี้คล้าย ๆ ประมูล
  4. SSSB จะปิดประมูลราว ๆ เดือนละ 3 ครั้ง เขาจะบอกในเว็บว่าจะปิดวันไหน แต่เขาจะไม่แจ้งทางอื่น ถึงเราชนะประมูลก็ไม่เมลบอก เพราะงั้นต้องเข้าไปดูเป็นระยะ
  5. มีสิทธิ์ cancel ได้แค่ 1 ครั้งเท่านั้น ถ้าไม่ cancel ก็กดตกลงไป เว็บก็จะทำสัญญาอะไรให้เราเรียบร้อย หลังจากนั้น credit day เราก็จะเหลือ 0 ก็รอไปรับกุญแจแล้วเข้าอยู่ได้เลย
SSSB.se ในภาพคือผมสะสมวันไว้ 40 วัน (เพิ่งใช้ไป เลยเหลือแค่นี้)

ทิปเล็กทิปน้อย

  • คนที่ได้ที่อยู่ใน SSSB ไปแล้ว บางครั้งเขาก็จะมาปล่อยให้เช่าต่อครับ แล้วก็เอากำไรอะไรไป เพราะงั้น บางครั้งใน SSSB ราคา 3,000 SEK แต่อาจมาปล่อยต่อที่ 4,000 SEK เป็นต้น
  • ผมว่าช่วงหกเดือนแรก โอกาสได้ที่อยู่จาก SSSB น้อยมาก ๆ นะครับ เพราะจำนวน Credit เราจะสู้พวกสะสมมาเป็นปีไม่ได้ ผมเองตอนที่ได้ใช้ 240 วันครับ ที่อยู่ก็ค่อนข้างเป็นกลุ่มแข่งขันต่ำก็เลยได้
  • ปัจจุบันผมก็อาศัยอยู่กับ SSSB ข้อเสียคือเป็นห้องเปล่า เพราะงั้นต้องหาของทุกอย่างเข้าห้องเอง ซึ่งก็ทำได้สองอย่างคือ ซื้อใหม่หมด ก็ไป Ikea แล้วให้ขนมาส่ง ผมหมดไป 4,000 SEK (เฉพาะค่าส่งพันกว่า ๆ มันจะมีส่งถึงบ้านกับส่งถึงห้อง) กับอีกอย่างคือรอคนย้ายออกปล่อยของขาย จากในกรุ๊ปต่อไปนี้: Lappis (Lappis เป็นชื่อของย่านหนึ่งที่มีหอของ SSSB อยู่เยอะ), Lappis MarketKungshamra (ชื่อย่านของ SSSB เหมือนกัน), Kungshamra Market, น่าจะมีกรุ๊ปอื่นอีกเยอะอยู่แหละครับ ต้องบอกก่อนว่าโอกาสจะได้ของจากกรุ๊ปพวกนี้แอบยาก เพราะมีคนโพสท์ปุ๊ปก็แทบจะมีคนซื้อปั๊ปเลย

แหล่งอื่น ๆ ในการหาที่อยู่

  • บางมหาวิทยาลัยจัดที่อยู่ให้นักศึกษา อย่างของ KI การันตีให้ 1 ปี KTH ก็เหมือนจะมี SU เหมือนจะมีให้แค่บางคน ในเว็บเขาน่าจะมีบอกเรื่องนี้ครับ
  • Facebook group ดังต่อไปนี้: Find Accomodation in StockholmStockholm Student Accommodation, Find Room / Roommate in StockholmLägenheter i StockholmBostad Stockholm
  • Blocket.se หลาย ๆ ที่ก็น่าสนใจเหมือนกันครับ แต่เห็นเพื่อนบอกว่าคนที่ลงในนี้ไม่ค่อยชอบปล่อยให้ชาวต่างชาติเช่า (จริง ๆ Blocket นี่มีขายอย่างอื่นด้วยครับไม่ใช่แค่ห้องเช่า คล้าย ๆ Ebay)
blocket.se

.

ค่าครองชีพ

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องค่าครองชีพใน Stockholm มาบ้าง มันก็สูงแหละครับ แต่ถ้าดูหลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ จริง ๆ จะพบว่า Stockholm ก็ยังถูกกว่า London หรือ New York นะ ถ้าอยากดูราคาของและสิ่งที่มีขายใน supermarket คร่าว ๆ ลองดูในเว็บของ ICA ก็ได้ครับ

ส่วนตัวผมเอง ผมใช้เดือนละ 9,000 SEK ก็คือได้ทุนมาเท่าไหร่ใช้หมดเกลี้ยง 555 เพื่อน ๆ ผมจะใช้น้อยกว่านี้ บางคนก็บอก 7,000 SEK ซึ่ง 9,000 SEK นี่มันจะแบ่งเป็นประมาณนี้:

  • ค่ากิน 4,000
  • ค่าเดินทาง 500
  • ค่าโทรศัพท์ 200
  • ค่าเช่า 3,000
  • ที่เหลือค่าใช้จ่ายจิปาถะ อย่างผมเองอยู่สาย IT ปีนึงก็ต้องจ่ายให้ Adobe ทีแบบนี้

คือบางทีเราก็เก็บได้นะครับ แต่มันก็มีเรื่องให้ต้องใช้เงินก้อนทุกที เช่น ย้ายหอนี่เกินงบผมมากเลย

.

สภาพอากาศ

เนื่องจากเราเติบโตในเมืองร้อน เราจึงมีภาพในใจว่า 0 องศามันต้องหนาวมากแน่ ๆ เลย แต่ผมจะบอกว่า อยู่ ๆ เดี๋ยวก็รู้สึกว่ามันไม่หนาวเองครับ -10 ก็ไม่ได้หนาวมาก สิ่งสำคัญคือเสื้อผ้าเราต้องพร้อม

  • อากาศที่ Stockholm ส่วนใหญ่ไม่หนาวครับ เราจะไปถึงช่วงหน้าร้อน อากาศกำลังดีมาก ๆ นอกนั้น Autumn กับ Spring ก็เย็น ๆ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา ที่จะหนาวหน่อยคือแค่ช่วงหน้าหนาว 3 เดือน จะหนาวและมืด (สว่างอยู่ราว ๆ 9 โมงถึงบ่ายสาม) คนจะทำหน้าเครียด ๆ หน่อย จริง ๆ ก็เข้าใจเขานะ คือมันหดหู่น่ะครับพอมืดอยู่ตลอด
ช่วง Christmas ที่ Gamla Stan ผมว่าในภาพนี่ประมาณบ่าย 4 โมงเย็น // Image Credits: Henrik Trygg/imagebank.sweden.se
  • ผมไม่แนะนำให้ขนเสื้อกันหนาวมาจากเมืองไทย เพราะ 1) ที่นี่ก็มีขายเยอะแยะ และอาจถูกกว่าซื้อที่ไทย 2) เสื้อผ้าที่ขนมามันอาจไม่เข้ากับการแต่งตัวของคนที่นี่ ซึ่งมันทำให้เราดูแปลก – -” (อันนี้บางคนอาจไม่คิดมาก 55)
  • คืออากาศข้างนอกมันหนาวก็จริง แต่ในอาคารมันก็อุ่นน่ะครับ และเราก็มักไม่ได้อยู่ข้างนอกนาน ตอนอยู่ข้างนอกก็เดินไปด้วยเป็นส่วนใหญ่ มันก็เลยไม่ได้รู้สึกหนาว
  • ลองจอน, heat tech Uniqlo อะไรทั้งหลาย ไม่ต้องเอามาก็ได้ครับ ผมขนมาเป็นสิบ ใส่แค่ช่วงแรก ๆ แหละ หลัง ๆ ก็เสื้อยืดกางเกงยีนส์ธรรมดา
  • ที่สำคัญที่สุดคือชั้นกลางกับชั้นนอก ชั้นนอกนี่ที่เขาว่าอุ่นที่สุดคือ Goose down ส่วนชั้นกลางคือ Merino wool ผมเองไม่มีทั้งคู่ เป็นเสื้อโนเนมธรรมดา แต่ก็อยู่ได้นะ
  • ส่วนตัวไม่ค่อยแนะนำ H&M มันหาความคงทนไม่ได้ ใส่แป๊ป ๆ ก็เก่าอีก แม้ราคามันจะถูกที่สุดแล้ว
    ของมือสองดี ๆ ก็เยอะครับ แต่เรื่องนี้ผมไม่เชี่ยวชาญ
ข้อดีของหน้าหนาวก็คือ เป็นฤดูล่าแสงเหนือ และ winter sport // Image credit: Hjalmar Andersson/imagebank.sweden.se

.

อาหาร

เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเงิน กินข้างนอกมื้อนึงก็ตกราว 100 SEK เรามักจะต้องทำอาหารกินเองครับ ตกราวมื้อละ 20 SEK แนะนำอย่างยิ่งให้หัดทำอาหารมาก่อน อาหารไทยก็ได้ แต่ถ้าหัดอาหารตะวันตกมาก็จะหาวัตถุดิบง่ายหน่อย ส่วนตัวผมไม่ได้หัดมา มานี่ก็ไม่ได้มีเวลาหัดเท่าไหร่ ทุกวันนี้รู้สึกคุณภาพชีวิตด้านอาหารย่ำแย่มาก 55

ถ้าอยากหาของถูกกิน แนะนำ 3 อย่าง

  • พิซซ่า หาร้านที่ดูน่าจะไม่แพง โดยทั่ว ๆ ไปจะราคาราว ๆ 70-80 SEK แต่มันกินได้ 2-3 มื้อ ผมว่าก็โอเคนะ
  • Sub of the day ของ Subway ชิ้นละ 35 SEK
  • McDonald Cheese Burger 2 ชิ้น 20 SEK, Super Cheese Burger ชิ้นละ 15 SEK, Double Cheese Burger ชิ้นละ 40 SEK

Supermarket

  • Lidl จะถูกที่สุด
  • ICA, COOP, Hemköp ราคาพอ ๆ กัน พวกนี้ถ้าเป็นสาขาที่ใหญ่ ๆ จะมีอาหารสำเร็จรูปให้ตักกับ Salad bar เหมือน Tops supermarket ที่ไทย ผมชอบกินซี่โครงหมู BBQ ของ COOP อร่อยดี แต่อ้วนมาก 55
  • มี Asian market เยอะเหมือนกัน แต่ผมไม่ค่อยได้ไป มันไกลจากบ้านอ่า ขึ้เกียจ

.

ธนาคาร

เนื่องจากมันนานมาแล้ว เลยจำไม่ค่อยได้ แต่เหมือน SEB จะเป็นธนาคารที่เปิดบัญชีได้ง่ายที่สุด รู้สึกว่าใช้ passport กับหลักฐานว่าเป็นนักศึกษาก็เปิดได้แล้วครับ อีกอย่างคือเป็นธนาคารเดียวที่ออกบัตรเดบิตที่ใช้ซื้อของ Online ให้เราได้ แต่อันนี้เหมือนต้องมี Personnummer (จะกล่าวใน section ID-card) แต่ข้อเสียก็คือเราจะเสียเงินทุกเดือนเป็นค่ารักษาบัญชีไว้ เดือนละ 25 SEK มั้ง (เพื่อนบอกถ้าเป็นนักศึกษาไม่ต้องเสีย แต่อันนี้ผมไม่แน่ใจนะครับ)

เวลาเปิดบัญชี SEB ก็สมัคร Online Banking ไว้เลยครับ ไว้ใช้โอนเงินค่าเช่าบ้าน จะ log in เข้าใช้งานช่วงแรก ๆ จะมี token ให้ ใช้ไม่ยากครับ หลังจากนั้นถ้าเราสมัคร Mobile Bank ID แล้ว (เป็น app นึงในมือถือ ผูกกับ Personnummer เรา) เวลาจะ log in ก็กด approve ใน app ก็ใช้ได้เลย Mobile Bank ID นี้ใช้ log in ใน service ต่าง ๆ ของภาครัฐได้ด้วย แนะนำให้สมัครครับ

https://www.bankid.com/en/

ถ้าเรามีบัญชีธนาคารแล้ว Step ต่อไปคือผูกบัญชีกับ app ชื่อ Swish ครับ เป็น app ที่คนที่นี่ใช้รับส่งเงินกัน มันจะมีสถานการณ์ที่เพื่อนเราหรือเราเองได้ออกตังค์ไปก่อน เวลาจะโอนคือก็เอาแค่เบอร์มือถือมาแล้วโอนผ่าน Swish (เพื่อนจะถาม How could I swish you? คือใช้เป็น verb ไปแล้ว 55)

https://www.getswish.se/

.

การเดินทางในเมือง

การเดินทางหลัก ๆ ใน Stockholm จะผ่านบริการของรัฐชื่อว่า SL ครับ ซึ่งเป็นบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่รถไฟฟ้า รถบัส และเรือโดยสาร ทั้งหมดใน Stockholm County ก็คือซื้อบัตรแล้วขึ้นอะไรก็ได้เลย โดยเราจะต้องซื้อ SL Access card ราคา 20 SEK ก่อน แล้วก็เลือกซื้อ Package การเดินทาง ซึ่งมี 2 แบบ

  1. แบบเที่ยวเดียว ราคาเต็ม 30 SEK/ เที่ยว คือคำว่าเที่ยวเดียวนี้จะต่างจากที่เมืองไทย เพราะ คำว่า 1 เที่ยวนี่หมายความว่าเราจะไปไหนก็ได้ แตะเข้าแตะออกกี่ครั้งก็ได้ ภายในเวลา 75 นาทีครับ ไม่ใช่แตะเข้าแตะออก 1 ครั้งเป็น 1 เที่ยว
  2. แบบเหมา 7 วัน 315 SEK, 30 วัน 830 SEK (นักศึกษา 550 SEK), 90 วัน 2,420 SEK (นักศึกษา 1,600 SEK)

คำแนะนำ

  • ซื้อแบบเหมาไปเลยครับ มาใหม่ ๆ ซื้อ 30 วันไปเลยก็ได้ เพราะยังไงเราก็ได้เดินทางเยอะอยู่แล้ว ไหนจะเที่ยวไหนจะเข้าไปมหาวิทยาลัย
  • การจะซื้อบัตรในราคานักศึกษา เราสามารถทำได้เลยที่เครื่อง แต่บางครั้งจะมีคนมาเดินตรวจบนรถไฟ ถ้าโดนตรวจแล้วไม่มีบัตร Student Union (ไม่ใช่บัตรนักศึกษานะครับ) หรือบัตรแบบ electronic ภายใน app ของ Student Union เราจะโดนปรับหนักมาก ตั้งแต่อยู่มานี่ผมเคยโดนตรวจ 2 ครั้ง ดังนั้นไม่แนะนำให้เสี่ยงครับ
  • เราไม่สามารถซื้อหรือเติมเงิน SL บนรถบัสได้ ต้องทำที่สถานีเท่านั้น ดังนั้นวางแผนดี ๆ ครับ (แต่บางทีคนขับรถก็หยวน ๆ ให้)
  • เมืองอากาศดี รถไม่ติด จริง ๆ ปั่นจักรยานก็สะดวกดี แต่ซื้อจักรยานก็ไม่จบเหมือนเดิม เพราะหน้าหนาวก็ปั่นไม่ได้อยู่ดี
สถานีรถไฟใต้ดินใน Stockholm มักจะตกแต่งด้วยสีต่าง ๆ แตกต่างกันไปในแต่ละสถานี สวยดีครับ
Image credit: Unsplash

.

ID card

สิ่งสำคัญสุดจริง ๆ คือ Personnummer ครับ เรียกว่าเลขประจำตัวบุคคลก็ได้ อันนี้สำคัญมาก ๆ ถ้ามีมันแล้วชีวิตในสวีเดนเราจะง่ายขึ้นเยอะ บริการแทบทุกอย่างหรือแม้กระทั่งการซื้อสินค้าบางอย่างเขาจะถาม Personnumner ไว้ identify ตัวเราเสมอ แต่ปัญหาคือ เฉพาะคนที่อยู่สวีเดนเกิน 1 ปีเท่านั้นที่สมัครได้ ดังนั้นถ้าคุณเป็นหลักสูตร 1 ปี ให้รีบไปสมัครก่อน Residence permit เหลืออายุน้อยกว่า 1 ปี

สำหรับ ID card ก็คือบัตรประจำตัว คนอื่นว่าไม่ค่อยจำเป็น แต่ผมรู้สึกผมใช้บ่อยมากยังไงไม่รู้ ไปรับพัสดุ ไปซื้อเบียร์ ก็ใช้ ID card แสดงเลย สะดวกดีครับ (จริง ๆ ใช้บัตรอื่นหรือ passport ก็ได้ แต่พก ID card สะดวกกว่า)

.

โทรศัพท์

เคยใช้แค่ Telia กับ Comviq ส่วนตัวคิดว่า Telia ไม่ค่อยดี สัญญาณอ่อน การคิดเงินก็เป็นงง ๆ เลยย้ายค่ายมา Comviq รู้สึกชีวิตดีขึ้นครับ (แต่บางทีก็สัญญาณหายเหมือนกันตามที่ลึก ๆ) ที่สำคัญคือมีส่วนลดถ้าเราเป็นสมาชิก Student Union

comviq.se

ถ้าใครจะซื้อมือถือ (จริง ๆ ก็อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ทุกอย่าง) แนะนำว่าซื้อมาจากไทยครับ เช่น iPhone ทีนี่จะแพงมาก เพราะ VAT เขาสูง (25%) อีกประเด็นคือถ้ามาซื้อ laptop ที่นี่ มันต้องวุ่นวายกับการหารุ่นที่คีย์บอร์ดไม่ใช่สวีดิชนะ

.

สุขภาพ

ยา
ผมขนยามาเยอะมาก ณ ปัจจุบันยังไม่ได้กินซักเม็ด อีกอย่างคือร้านยาเขาเยอะอยู่ครับ ถ้าป่วยจริงหายาไม่ยากหรอก ดังนั้นไม่ต้องขนมาเยอะก็ได้ครับ

หาหมอ
ส่วนตัวไม่เคยป่วยหนักจนต้องไปหาหมอ เลยไม่ทราบว่าเป็นไงเหมือนกันครับ แต่โดยหลักการแล้วทุกคนที่มี residence permit สามารถได้รับการรักษาแบบเดียวกับคนสวีดิช (อ่าน blog: ระบบบริการสุขภาพของสวีเดน (Swedish Health Care System) – A Short Introduction) แต่ได้ข่าวจากมิตรสหายมาเหมือนกันครับว่ากว่าจะนัดวันตรวจได้นานมาก

ระบบที่นี่จะไม่เหมือนที่ไทยนะครับ ไปหาหมอเราจะได้ใบสั่งยามา แต่เราต้องเอาใบสั่งยานั้นไปซื้อยาที่ร้านขายยา

ฟิตเนส
Fitness 24/7 นี่ถูกสุดแล้วครับ มีส่วนลดนักศึกษา เหลือราว ๆ 170 SEK มั้ง ข้อเสียคือคนมักเยอะ เพื่อนผมหลายคนก็หนีไปใช้ที่อื่น

.

ภาษา

ถ้าเรียนภาษาสวีดิชมาก่อนก็ดีครับ ชีวิตจะดีขึ้น เข้ากับคนสวีดิชได้มากขึ้น (เพราะถึงแม้เขาจะพูดอังกฤษได้ เขาก็ชอบพูดภาษาตัวเองมากกว่า) ส่วนตัวผม ณ ปัจจุบันรู้จักอยู่แค่สวัสดี ขอบคุณ นี่แหละครับ ว่าจะเรียนไว้บ้างเหมือนกัน ที่นี่มีเรียนฟรีนะครับ ทั้งมหาวิทยาลัยผมจัดสอน และรัฐบาลจัดสอน ข้อมูลพวกนี้มหาวิทยาลัยน่าจะบอกครับ

.

งานพิเศษ

ถ้ามาด้วยทุน SI จะติดสัญญาห้ามมีรายได้เสริมเกิน 5,000 SEK/เดือนอยู่ครับ แต่ถ้ามาด้วยวิธีการอื่น ๆ ก็ทำงานพิเศษได้นะครับ ผมเองทำงานให้มหาวิทยาลัยอยู่บ้าง ได้เรทชั่วโมงละ 140 SEK ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 30% ก็เหลือ 98 SEK T.T แต่เดือนเมษาเราจะได้คืนบางส่วนครับเพราะภาษีจริง ๆ สำหรับนักเรียนมัน 16% (มั้ง)

  • ถ้าเป็นงานพิเศษแบบ non-skill เช่น ไปทำงาน supermarket (อย่าดูถูกเชียวครับ เขาได้เยอะกว่าผมอีก) เสิร์ฟอาหาร รับเลี้ยงเด็ก-คนชรา พวกนี้ต้องรู้ภาษาสวีดิช เพราะงั้นผมว่าคนไทยนี่ยากจะได้งานครับ
  • ถ้าเป็นงานใช้ skill อันนี้ดูเป็นงาน ๆ ไป graphic designer, software/web developer, analyst พวกนี้ไม่ต้องรู้สวีดิชก็ได้ แต่ถ้าจะไปเป็นทำงานในโรงพยาบาลหรือคลินิก แบบนี้ต้องรู้

สรุปก็คือ ทำได้ครับ แต่อย่าหวังอะไรจากมันมาก

.

เที่ยวไหน-กินอะไร

กินอะไรนี่ไม่สันทัดจริง ๆ ครับ (อย่างที่บอกว่าไม่ค่อยได้กินอะไรดี ๆ กับเขาหรอก 55) แต่เรื่องเที่ยวไหนนี่ยาวครับ ไว้เดี๋ยวเขียนเป็นอีก blog ละกันครับ

.

—————————————–

สรุป

ส่วนตัวผมว่า Stockholm เป็นเมืองที่ดีมาก ๆ เมืองหนึ่งในโลกนะครับ มาเที่ยวอาจไม่เข้าใจว่ามีอะไรดี เพราะเป็นเมืองที่ไม่ได้มีอะไรให้เที่ยวเท่าไหร่ แต่เป็นเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่แล้วโอน่ะครับ อากาศดี บรรยากาศร่มรื่น การคมนาคมสะดวก แต่เขาก็มีข้อเสียนะไม่ใช่ไม่มี (แต่ยังไม่พูดถึงละกันครับ 55)

ก็หวังว่าทุกท่านที่จะมาเรียนที่นี่จะได้ประโยชน์จากบทความนี้อยู่บ้างนะครับ ขอให้มีความสุขกับชีวิตในสวีเดนครับ 🙂

Comments

  1. สวัสดีครับ ผมจะไปเรียนที่ KTH ปีนี้แล้วครับ(แต่ไม่ได้ทุน SI มานะครับ)
    พอดีว่าจะสมัคร SSSB ไว้ก่อน แต่ตอน register เค้าถามหา Personnummer ซึ่งผมไม่มี (จริงๆติ๊กว่าไม่มีก็ได้ แต่ก็ยังให้กรอกอยู่ดี)
    ก็เลยอยากถามว่า ผมต้องกรอกอะไรไปแทนรึเปล่าครับถ้าจะสมัครทิ้งไว้ตั้งแต่ตอนนี้
    หรือว่า รอได้ ID card ก่อนแล้วค่อยสมัครจะชัวร์กว่า

    ขอบคุณมากครับ

    1. ปล่อยทิ้งไว้เลยก็ได้ครับ เขาเข้าใจอยู่อ่า เดี๋ยวพอได้มาค่อยบอกเขาครับ

  2. สวัสดีค่ะ
    ข้อมูลเ)็นประโยชน์มากเลยค่ะ หวังว่าจะได้มีโอกาศได้รับทุนนี้เหมือนพี่นะคะ เข้ามาอ่นทุกวันเลยค่ะ 5555

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *