ออกแบบชีวิต (Designing Your Life) ด้วย Design Thinking

เพิ่งอ่านเล่มนี้จบครับ ชื่อว่า Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life เป็นหนังสือของอาจารย์สองท่านที่ Stanford d.school ทั้งสองท่านนี้คิดได้ว่าจะเป็นอย่างไรหากนำหลักของ Design Thinking มาใช้  “ออกแบบชีวิต” จึงได้ทดลองสร้างเป็นคอร์สขึ้นมา ผลปรากฎว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม (ตามที่ผู้เขียนบอก) และผู้เขียนรู้สึกว่ามีหลายคน ทั้งนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาขอคำปรึกษา ได้รับประโยชน์มากมายจากคอร์ส จึงได้เขียนเป็นหนังสือนี้ออกมาครับ

ยาวไปไม่อ่าน

  • การเลือกทางเดินชีวิต ไม่เหมือนการสร้างสะพานที่เรามีภาพจุดหมายในใจชัดเจนอยู่แล้ว เราไม่สามารถนั่งคิดเพื่อสรุปออกมาเป็นแผนที่สมบูรณ์แบบ แล้วเดินตามแผนนั้นไปเรื่อย ๆ ได้ แต่การเลือกทางเดินชีวิตเหมือนงานออกแบบสิ่งใหม่ ๆ มากกว่า นั่นคือเรา define ว่าปัญหาคืออะไร แต่เราไม่มีภาพชัดว่าทางแก้คืออะไร เราสร้าง prototype แล้ว iterate (ทำซ้ำ) ไปเรื่อย ๆ ทีละนิด จนออกมาเป็นชีวิตแบบที่เราต้องการ
  • Define ปัญหาให้ถูก อย่าไปแก้ปัญหาที่ไม่มีทางแก้ และสำหรับปัญหาที่มีทางแก้ก็อย่ายึดติดกับทางแก้ทางเดียว
  • เราใช้มุมมองต่อการทำงานและมุมมองต่อชีวิตเป็นเข็มทิศของชีวิต ใช้สิ่งที่เราทำแล้ว engage หรือมีพลัง เป็นตัวช่วยหาเส้นทาง ใช้ mindmap และ brainstorming เพื่อออกแบบทางเลือกต่างๆ แล้วลงมือสร้าง prototype เพื่อพิสูจน์ไอเดียนั้น
  • Prototype สร้างได้ด้วยการพูดคุยกับคนที่อยู่ในวงการอยู่แล้ว และการลองลงมือทำ
  • การหางานทางอินเตอร์เน็ตไม่เวิร์คหรอก ที่เวิร์คคืองานที่มาจาก network ที่เรามี

สรุปฉบับเต็ม

สาเหตุที่เขียนซะยาวขนาดนี้ เพราะผมคิดว่าเนื้อหาของหนังสือนี้มีประโยชน์ครับ และอาจจะช่วยให้หลาย ๆ คนได้ค้นพบทางเดินที่ต้องการได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านรวดเดียวหมดนะครับ ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ ทำตามกิจกรรมต่าง ๆ ไปทีละนิด อย่างไรก็ดีต้องบอกว่า blog นี้ก็ตัดเนื้อหาในหนังสือไปเยอะมาก หากต้องการเห็นภาพหรือเข้าใจมากขึ้น จากเคสและคำอธิบายต่าง ๆ ที่หนังสือยกมา อาจต้องอ่านฉบับเต็มครับ

ตลอดหนังสือจะนำเสนอ dysfunctional beliefs หรือความเชื่อผิด ๆ ที่คอยฉุดรั้งผู้คนไม่ให้ไม่สามารถใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการ ความเชื่อเหล่านี้ต้องมีการ reframe (การปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่) ผมจะแทรกอันที่สำคัญๆ ลงไปในแต่ละบทนะครับ


Introduction

ในสหรัฐอเมริกา คนเพียง 27% เท่านั้นที่ทำงานตรงกับสาขาที่เรียนมา, คนกว่า 2/3 ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ, 15% รู้สึกเกลียดงานของตัวเอง, คนอายุระหว่าง 44-70 ปี กว่า 31 ล้านคน ต้องการงานที่ลงตัวระหว่าง การให้ความหมายกับชีวิต เงินที่มั่นคง และประโยชน์ต่อสังคม แต่ส่วนใหญ่คิดว่ามันสายเกินไปแล้วที่จะเปลี่ยนงาน

Dysfunctional Belief: Your degree determines your career.
Reframe: Three-quaters of all college grads don’t end up working in a career related to their majors.
Dysfunctional Belief: If you are successful, you will be happy.
Reframe: True happiness comes from designing a life that works for you.
Dysfunctional Belief: It’s too late.
Reframe: It’s never too late to design a life you love.

การแก้ปัญหาทางวิศวกรรม (engineering problems) เช่น สร้างข้อต่อสำหรับ Notebook ที่คงทนนาน 5 ปี หรือสร้างสะพานข้ามแม่น้ำใหญ่ ๆ สิ่งเหล่านี้เรามีไอเดียที่ค่อนข้างชัดอยู่แล้วว่าเราอยากได้อะไร สังคมคาดหวังให้เราออกแบบชีวิตแบบนั้น มีภาพชัดในใจว่าอยากทำอะไร แล้วก็สร้างไปตามนั้น

ตรงกันข้ามกับการแก้ปัญหาทางการออกแบบ (design problems) เช่น ออกแบบ “อะไรซักอย่าง” มาใช้แทนเมาส์สำหรับโน้ตบุ๊ค เพราะว่าคงไม่สะดวกถ้าจะต้องพกเมาส์ตลอด คนแรกที่ออกแบบ trackball มาใช้กับ Apple PowerBook (สมัยนั้น) เขาไม่ได้มีภาพ trackball อยู่ในใจตั้งแต่วันแรก แต่มันผ่านการลองผิดลองถูก ค่อย ๆ ทำ prototype มาหลายเวอร์ชั่น กว่าจะออกมาเป็นแบบนั้น

Macintosh Powerbook 170 (1991-1992) ภาพจาก @vitaskhr

แนวคิดเรื่อง follow your passion เป็นเรื่องที่ดี ปัญหาคือคนส่วนมากไม่รู้ว่าตนเองมี passion กับอะไร และสำหรับคนที่รู้ ส่วนมากก็จะรู้เมื่อได้ลองทำไปซักระยะ ไม่ใช่นั่งคิดแล้วก็คิดขึ้นมาได้เลยว่าตนเองมี passion อะไร อีกอย่างคือคนเราสามารถมี passion ได้กับหลายอย่าง การจะรู้ได้ก็มีแต่ต้องลองทำสิ่งต่าง ๆ เท่านั้น

ผู้เขียนสรุปว่า การออกแบบชีวิตก็เหมือนกับการแก้ปัญหาการออกแบบอื่น ๆ เราไม่ได้มีภาพในใจว่าปลายทางอยากมีชีวิตแบบไหน (ถึงมีมันก็อาจจะไม่ถูก) การสร้างเป้าหมายขึ้นมาลอย ๆ แล้วทุ่มสุดตัวเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นเป็นวิธีที่เสี่ยง วิธีที่ดีกว่าคือการค่อย ๆ ลอง prototype ชีวิตของตัวเองอย่างง่าย ๆ เร็ว ๆ เพื่อทดสอบว่าใช่ชีวิตแบบที่ต้องการหรือเปล่า แล้วค่อย ๆ ทำซ้ำ (iterate) ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ต้องการ ถ้าระหว่างนั้นคิดว่าไม่ใช่ก็รีบ pivot ไปอย่างอื่นที่ใช่

ความเห็นผม

  • เหมือนผู้เขียนบอกว่า ที่ผ่านมาเราสร้างชีวิตกันแบบ Waterfall กัน ไม่เวิร์คหรอก เปลี่ยนมาใช้ Agile เถอะ
  • จริง ๆ มันก็พูดยากนะครับว่าจุดไหนคือควรรู้ตัวว่าไม่เวิร์ค ออกเร็วไปก็กลายเป็นว่าทำยังไม่ถึง ยอมแพ้ง่ายไป อะไรแบบนั้นอีก

Chapter 1: Start Where You Are

การออกแบบคือการแก้ปัญหา และก่อนที่จะเริ่มแก้ปัญหาได้ เราต้องรู้ก่อนว่าปัจจุบันเราอยู่ตรงไหน หรือก็คือการตั้งโจทย์ให้ถูก คนหลายคนใช้เวลาเป็นปี ๆ หรือกระทั่งทั้งชีวิต ในการแก้โจทย์ที่ผิด

ผู้เขียนพูดถึง Gravity problem หรือปัญหาที่ทำอะไรไม่ได้ (not actionable) เหมือนมีคนปั่นจักรยานขึ้นเขาแล้วรู้สึกเหนื่อย เลยบอกว่าปัญหาอยู่ที่แรงโน้มถ่วงโลก ทำให้เหนื่อย จะแก้ยังไงดี ปัญหาแบบนี้ไม่มีทางแก้ได้ หรือก็คือแก้ไม่ได้โดยง่าย (จะแก้คือย้ายไปอยู่ดาวอื่น หรือเปลี่ยนวงโคจรโลก) ปัญหาเหล่านี้ต้องการการ reframe วิธีคิดของเรา ยกตัวอย่างเช่น

  • “ค่าตอบแทนของงานเขียนบทกวีน้อยเกินไป จะทำยังไงให้สังคมเห็นคุณค่าของบทกวีเพิ่มมากขึ้น” –> จะแก้คือต้องไปออกแคมเปญรณรงค์ขึ้นค่าแรงนักกวี ซึ่งไม่ง่ายหรอก (แต่ถ้าคิดว่านี่คือ passion ของชีวิตก็จัดเลย) –> ทำได้แค่ยอมรับมัน หาทางเพิ่มมูลค่าด้วยอย่างอื่น ไม่งั้นก็ไปหาอาชีพอื่นทำ
  • “บริษัทที่ผมทำอยู่สืบทอดตำแหน่งผู้นำกันเฉพาะในครอบครัว จะทำยังไงให้ผมขึ้นเป็นผู้นำได้” –> ยอมรับมัน มองหาบริษัทที่ไม่ได้สืบทอดในครอบครัว หรือมองหาโอกาสที่จะก้าวหน้าโดยไม่ต้องเป็นผู้นำ

ประเด็นคืออย่าเอาชีวิตไปติดหล่มอยู่กับปัญหาที่ไม่มีทางแก้ได้ เลือกแก้ปัญหาให้ถูก ส่วน gravity problem สิ่งที่ทำได้คือแค่ยอมรับมัน

Gravity Problem

ช่วงหลังกล่าวถึงการลองประเมินตนเองว่าชีวิตปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง โดยใช้ปัจจัย 4 ด้าน Health, Work, Play, Love ลองดูว่าแต่ละด้านของตนเองเป็นอย่างไรบ้าง จาก 0 ถึง 100 เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะออกแบบชีวิตด้านไหนก่อน สมดุลของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะโอเคกับการที่ Play เป็น 0 แบบนี้ก็เป็นการออกแบบชีวิตที่เขาต้องการ

ใช้ dashboard นี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการออกแบบชีวิต หลังจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่หนังสือแนะนำเสร็จสิ้น

ภาพจากหนังสือ Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life

ในหนังสือจะมีตัวอย่างเคสจำนวนหนึ่งสำหรับ dashboard นี้ครับ พร้อมคำอธิบาย ท่านใดสนใจลองดูได้ครับ

Dysfunctional Belief: I should already know where I’m going
Reframe: You can’t know where you are going until you know where you are.

ทั้งหมดใน Chapter นี้ก็คือการพยายามตอบคำถามว่าเราอยู่ตรงไหน ณ ปัจจุบัน

ความเห็นผม

  • อันนี้ใน Design Thinking ก็คือ Empathize and Define ครับ และจะเป็นขั้นนี้ไปอีกหลาย chapter

Chapter 2: Building a Compass

หลังจากเรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนใน chapter ที่แล้ว chapter นี้คือการสร้างเข็มทิศเพื่อให้เราไปถึงจุดที่เราต้องการได้ การจะสร้างเข็มทิศได้เราต้องรู้สองอย่างเกี่ยวกับตัวเรา คือ Workview (มุมมองต่อการทำงาน) และ Lifeview (มุมมองต่อชีวิต)

เป้าหมายของการทำแบบนี้คือการออกแบบชีวิตที่มีความสอดคล้อง (coherent) ของ:

  • Who you are
  • What you believe
  • What you are doing

เช่น ถ้า Lifeview คืออยากจากโลกไปโดยทำให้โลกนี้ดีขึ้น แต่ทำงานในบริษัทที่สร้างมลพิษ แบบนี้คือไม่ coherent ซึ่งจะทำให้ไม่มีความสุข เข็มทิศคือสิ่งที่ช่วยให้เราเดินทางไปตามทางที่ coherent ได้

Workview

คำว่า Work นี่ไม่ใช่แค่งานที่ได้เงิน แต่เป็นสิ่งที่กว้างกว่านั้น เช่น ออกจากงานมาเลี้ยงลูกเป็นหลัก แบบนี้ Work ก็คือการเลี้ยงลูก สามารถค้นหา Workview ของตนเองได้โดยการตอบคำถาม เช่น

  • ทำงานไปเพื่ออะไร?
  • การทำงานหมายถึงอะไร?
  • การทำงานเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับผู้อื่น หรือสังคม?
  • งานที่ดีเป็นอย่างไร?
  • เราควรได้เงินขนาดไหนจากการทำงาน?
  • เราควรจะได้ประสบการณ์ หรือการเติมเต็มอะไรไหมจากงาน?

สิ่งเหล่านี้ไม่มีถูกผิด มันต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล แต่เราควรตอบตัวเองได้ว่าสำหรับเราการทำงานคืออะไร

Lifeview

คำถามเพื่อค้นหา Lifeview เช่น

  • เราเกิดมาเพื่ออะไร?
  • อะไรคือสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตเรา?
  • ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่นสำคัญอย่างไรกับชีวิตเรา?
  • แล้วครอบครัว ประเทศ และคนอื่น ๆ ในโลกเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร?
  • อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว?
  • มีสิ่งที่เหนือกว่าเราหรือเปล่า (พระเจ้า, กฎแห่งกรรม) และสิ่งเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตเรา?
  • อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ความสุข-ทุกข์ ความยุติธรรม-อยุติธรรม ความรัก ความสงบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีบทบาทอย่างไรกับชีวิต?

เช่นเคย ไม่มีถูกมีผิด และไม่สำคัญว่าศาสนาอะไร

ผู้เขียนแนะนำให้เราตอบคำถามเหล่านี้เขียนคำตอบสั้น ๆ ลงกระดาษ ใช้เวลาราว 30 นาที ทำความเข้าใจกับตัวเอง

Coherency and Workview-Lifeview Integration

ลองพยายามตอบคำถามเหล่านี้:

  • มีตรงไหนไหมที่ Workview และ Lifeview ของเราส่งเสริมกันและกัน?
  • มีตรงไหนไหมที่ขัดแย้งกัน?
  • ถ้าส่งเสริมกัน ส่งเสริมกันอย่างไร?

ความเข้าใจ Workview และ Lifeview ของตนเองนี้คือเข็มทิศของเรา ไว้คอยเช็คอยู่เสมอว่าทางที่เราจะเลือกเดินนั้นสอดคล้องกับเข็มทิศนี้หรือเปล่า และเข็มทิศนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดช่วงอายุของเรา (เด็กคิดแบบหนึ่ง โตมาคิดอีกแบบ) ดังนั้นต้องคอยเช็คเสมอเป็นระยะ

Dysfunctional Belief: I should know where I’m going
Reframe: I won’t always know where I’m going—but I can always know whether I’m going in the right direction.

ความเห็นผม

  • คำถามเหล่านี้บางทีอาจดูปรัชญาไป แต่ผมว่าคนเราก็ควรตอบตัวเองได้นะ จริง ๆ เป็นเรื่องที่หนังสือแนว self-improvement หรือแม้แต่แนวศาสนาก็ตามก็พูดถึง ต่างกันแค่บางเล่มอาจบอกนิยามมาให้เราเลยว่าเราเกิดมาทำไมอะไรแบบนั้น (เช่น พุทธนี่ชัดเจนมาก) เล่มนี้ไม่สนว่าเราจะเชื่อแบบไหน แค่ควรตอบตัวเองได้ว่าสรุปเชื่อแบบไหน

Chapter 3: Wayfinding

Dysfunctional Belief: Work is not supposed to be enjoyable; that’s why they call it work.
Reframe: Enjoyment is a guide to finding the right work for you.

Wayfinding คือการค้นหาเส้นทางในการเดินทาง ชีวิตเราไม่ได้มีระบบว่าใส่ปลายทางที่ต้องการแล้วจะมี GPS มาบอกว่าต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตรงไหน เราทำได้แค่อาศัยร่องรอย (clues) 2 อย่างที่เรามี คือ Engagement และ Energy ผู้เขียนแนะนำให้เราจดบันทึกสองอย่างนี้ลงไปในสิ่งที่เรียกว่า Good Time Journal ของเรา

Engagement

Engagement คือเมื่อเรารู้สึก สนุก มีสมาธิ และรู้สึกดีในงานที่ทำ ส่วน Disengagement ก็คือเมื่อเรารู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิด หรือไม่มีความสุขในงาน ส่วน Flow คือภาวะที่ Engage อย่างมาก เรารู้สึกถูกดึงดูดเข้าไปในงานจนไม่รู้เวลาโดยรู้สึกโดยรวมค่อนข้างดีตลอดช่วงเวลานั้น ให้จดบันทึกว่ากิจกรรมอะไรทำให้เรา engage, disengage, และ flow

Energy

คือการค้นหาว่ากิจกรรมอะไรที่เรารู้สึกว่าทำแล้วเพิ่มพลังงานให้กับเรา ทำแล้วกระปรี้กระเปร่ามีแรง และหากิจกรรมที่ดูดพลังงานไปจากเรา กิจกรรมที่เพิ่มหรือดูดพลังงานนี้ไม่เกี่ยวกับว่า Engage หรือไม่ บางกิจกรรมเรารู้สึก engage แต่ทำเสร็จแล้วหมดพลังมากก็มี

การจดบันทึกนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจตนเอง เช่น วิศวกรคนหนึ่งบ่นเบื่องานตัวเอง คิดจะลาออกเพื่อเปลี่ยนสายงานไปเรียนอย่างอื่น แต่ลองมาจดบันทึกดูจริง ๆ ก็พบว่า จริง ๆ แล้วเขาชอบงานแก้ปัญหาทางวิศวกรรม แต่สิ่งที่ทำให้หมดแรงคือการต้องดีลกับคนที่มีปัญหาเยอะ หรือการทำงานพวกบริหารจัดการต่าง ๆ พอเข้าใจตนเองได้ก็ไม่ลาออกแล้ว แต่เรียนต่อป.เอกแทน เพื่อจะได้เป็นสาย technical เน้น ๆ แก้ปัญหาทางวิศวกรรมอย่างเดียว ไม่ต้องดีลกับคนแบบงาน management

ตัวอย่าง Good Time Journal

ภาพจากหนังสือ Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life

แต่ละกิจกรรมที่ engage หรือ energize ก็ลองใช้ AEIOU framework ในการวิเคราะห์ดูครับว่ามีกิจกรรมนั้นมีบริบทอย่างไร

  • Activities: เป็นกิจกรรมอะไร เป็นกิจกรรมที่มีแบบแผนหรือไม่มี และเราสวมบทบาทไหนหรือเปล่า (leader, participant)
  • Environments: สภาพแวดล้อมแบบไหน (สนามบอล, ห้องประชุม) และสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลอย่างไร
  • Interactions: ในกิจกรรมนั้นเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนหรือเครื่องจักรอะไรหรือเปล่า เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ
  • Objects: ในกิจกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งของอะไรไหม
  • Users: มีใครอยู่กับเราตอนทำกิจกรรมนั้น เขาทำอะไร ทำให้ประสบการณ์มันดีขึ้นหรือแย่ลง
    ในหนังสือมีตัวอย่างเคสที่ใช้ Good Time Journal แล้วชีวิตเปลี่ยนอีกพอสมควร

Mountaintop

Mountaintop moment หรือ peak experience คือประสบการณ์ที่เรารู้สึกดีมาก ๆ ในอดีต มันมีเหตุผลของมันที่มันยังอยู่ในใจเราเสมอ

Wayfinding ของชีวิตก็คือค้นหาว่าอะไรที่เราทำแล้ว engage อะไรที่ทำแล้วเพิ่ม energy และอะไรคือสิ่งที่เป็น mountain top moment ใช้สิ่งเหล่านี้เป็น clues ในการคลำทางไปต่อของเรา เพื่อเดินไปตามเข็มทิศของเรา (ที่สร้างไว้ใน chapter ที่แล้ว)


Chapter 4: Getting Unstuck

คนส่วนมากคิดว่าตัวเองเจอทางตันของชีวิตไปไหนไม่ได้ แต่จริง ๆ คือเขาตันเพราะยึดติดกับไอเดียบางอย่าง

Dysfunctional Belief: I’m stuck.
Reframe: I’m never stuck, because I can always generate a lot of ideas.
Dysfunctional Belief: I have to find the one right idea.
Reframe: I need a lot of ideas so that I can explore any number of possibilities for my future.

Anchor problem

Anchor problem คือปัญหาที่คน ๆ หนึ่งติดอยู่กับมันนาน ๆ แต่ก็แก้ไม่ได้ซักที อันนี้นั้นต่างจาก gravity problem ตรงที่ anchor problem มันไม่ใช่แก้ไม่ได้ คือมันแก้ได้ แต่คน ๆ นั้นไปยึดติดกับ solution ที่ไม่ถูกและไม่ยอมปรับ

เช่น อาจารย์คนหนึ่งอยากเปิดคอร์สใหม่ แต่ไปยึดติดว่าต้องสร้างตึกใหม่ ต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ต้องขอทุน ผ่านไปสองปีก็ทำไม่ได้ซักที สุดท้ายคิดได้ว่าไม่ต้องขอทุนก็ได้ ไปเปิดสอนได้ด้วยวิธีอื่น สถานที่อื่น เกิดเป็นคอร์สใหม่ได้เหมือนกัน เป็นต้น

Anchor problem

ประเด็นก็คือ อย่าไปยึดติดกับ solution ดั้งเดิมที่เราคิด คนเรามักรู้สึกสบายใจกับการยึดติดกับสิ่งที่ตนคุ้นเคย ทั้ง ๆ ที่รู้แก่ใจว่าไม่เวิร์ค มากกว่าจะลองเสี่ยงทำสิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

การหลุดจากกรอบ

นักออกแบบมักจะชอบไอเดียที่บ้า (crazy idea) เพราะ มันมักจะนำพาเขาหลุดจากกรอบแนวคิดเดิม ๆ จนนำไปสู่ไอเดียที่ใช้ได้จริงต่อไป วิธีการที่เราจะฝ่าทางตันได้ คือการสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ที่หลุดไปจากกรอบเดิมที่ขังเราอยู่ ขั้นตอนแรกในการหลุดกรอบก็คือการสร้างไอเดียออกมาจำนวนมาก ๆ โดยไม่ต้องสนใจคุณภาพหรือความเป็นไปได้ของไอเดียนั้น ไอเดียบ้า ๆ ยิ่งดี (มันจะไม่ใช่ไอเดียสุดท้ายที่เราจะทำจริง แต่มันจะช่วยให้เราหลุดกรอบ)

ขั้นตอนแรก

ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ Good Time Journal ใน chapter ที่แล้วมาสร้าง mind map 3 อัน แต่ละอันเลือกจุดศูนย์กลางดังนี้:

  • Map 1— Engagement: เลือกจากสิ่งทีเรา engage ที่สุด
  • Map 2— Energy: เลือกจากสิ่งที่ให้พลังงานกับเราที่สุด
  • Map 3— Flow: เลือกจากสิ่งที่ทำให้เราเข้าถึง flow

แต่ละ map ให้แตก concept ออกไปจากศูนย์กลาง 3-4 ชั้น คิดอะไรได้ก็เขียนไปเลย แม้ไม่รู้ว่ามาได้ไง เช่น concept ว่า “ภูเขา” แต่เรานึกถึงดาราได้ไงไม่รู้ (สมมติอั้ม พัชราภา) ก็เขียน “อั้ม” ลงไปใน concept ที่แตกมาจากภูเขา

ขั้นต่อมา

  1. ลองมอง ๆ สิ่งที่อยู่วงนอก ๆ ของ mind map อันใดอันหนึ่ง แล้วเลือก concept ที่เรารู้สึกสะดุดตาออกมา 3 อัน
  2. ลองพยายามเขียน Job description จาก concept 3 อย่างนั้นที่เราเลือกมา (ไม่ต้องสนความเป็นไปได้)
  3. ลองตั้งชื่อตำแหน่งและวาดรูปคร่าว ๆ ของเรากำลังทำงานนั้น
  4. ทำซ้ำในอีก 2 map ที่เหลือ

เสร็จขั้นตอนนี้ บางคนอาจได้ไอเดียใหม่ ๆ บางคนอาจไม่ได้อะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วจุดประสงค์ของ workshop ไม่ใช่การให้ได้คำตอบในทันที แต่เป็นการฝึกการคิดนอกกรอบแบบนักออกแบบ เพื่อใช้ใน chapter ถัดไป

ความเห็นผม

  • อันนี้ใน Design Thinking คือขั้น Define และ Ideate

Chapter 5: Design Your Lives

ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือคิดว่าตัวเองจะมีชีวิตที่ราบรื่น สวยงาม เพียงแค่เขาสามารถเลือกทางที่ถูกต้อง ดีที่สุด จริงแท้หนึ่งเดียวได้ มีเพียงทางเดียวเท่านั้นที่เป็นทางที่ดีที่สุดของชีวิต แล้วก็เดินไปตามทางนั้น ความจริงคือ คนเราแต่ละคนสามารถมีชีวิตที่ดีได้หลายแบบ

Dysfunctional Belief: I need to figure out my best possible life, make a plan, and then execute it.
Reframe: There are multiple great lives (and plans) within me, and I get to choose which one to build my way forward next.

Odyssey Plans

ขั้นต่อไปในการออกแบบชีวิตคือการลองสร้าง Odyssey Plans หรือแบบจำลองของชีวิตในอีก 5 ปีข้างหน้า 3 แบบ เพื่อมาเป็นตัวเลือกในการ prototype ต่อไป ทั้ง 3 แผนเป็นแผนที่ดีทั้งหมด ไม่ใช่มีบางแผนเป็นแผนสำรองของแผนอื่น ๆ และทั้ง 3 แผนต้องเป็นแผนที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น เป็นหมอที่กรุงเทพ ฯ กับเป็นหมอที่เชียงใหม่ อันนี้ถือว่าไม่ต่างกันพอ

ทั้ง 3 แผนนั้นคือ

  1. แผนที่เรามีอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน หรือแผนที่วางแผนจะทำจริง ในระยะใกล้ๆ เช่น ทำงานเป็นหมอเก็บเงินไปสิบปีแล้วลาออกไปสร้างธุรกิจบางอย่าง
  2. สิ่งที่เราจะทำถ้าแผนแรกหายไปจากโลก เช่น จู่ ๆ โลกมีวัคซีนที่ทำให้คนไม่ป่วยเลย โลกไม่ต้องการหมอแล้ว เราจะทำอะไร บางคนอาจบอกเปิดร้านกาแฟ
  3. สิ่งที่เราจะทำถ้าเรามีเงินล้นเหลือในชีวิต เช่น บางคนอาจบอกว่าจริง ๆ อยากเป็น dancer
ตัวอย่าง Choice A – Choice B – Choice C

วิธีการสร้าง Odyssey Plans

  1. ลองวาดภาพเป็น timeline เล่า story ของแผนต่าง ๆ นำสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตที่เกี่ยวข้องมาอยู่ในภาพด้วย เช่น สมมติ แต่งงาน, ย้ายบ้าน, เลี้ยงหมา ฯลฯ
  2. ตั้งชื่อแผนนั้น
  3. ตั้งคำถาม 2- 3 ข้อสำหรับแต่ละแผน เช่น อะไรที่เป็น challenge ของแผนนั้น หรือสิ่งที่เราไม่ค่อยเข้าใจ
  4. สร้าง Dashboard สำหรับแต่ละแผน โดยมีตัวชี้วัดคือ:
  • Resources – เรามี resource ด้าน เวลา, เงิน, ทักษะ สำหรับแผนนี้หรือไม่
  • Likability – เราชอบแผนนี้ไหม
  • Confidence – เรามีความมั่นใจแค่ไหนในการเดินตามแผนนี้
  • Coherence – แผนนี้สอดคล้องกับ Workview และ Lifeview ของเราหรือไม่
  • ปัจจัยอื่น ๆ ที่ควร พิจารณา เช่น เราจะอยู่ที่ไหน, เราจะเรียนรู้อะไร, มีผลกระทบอะไรบ้าง, ชีวิตจะเป็นยังไง (ตำแหน่งอะไร อุตสาหกรรมไหน บริษัทประมาณไหน)

ถ้าเขียนแผนแล้วรู้สึกตัน อาจลองใช้ mind map จาก chapter ที่แล้วช่วย และก็อย่ากลัวที่จะลองเขียนแผนที่ดูบ้า

ตัวอย่าง Dashboard

ภาพจากหนังสือ Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life

ผู้เขียนแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ลองหาเพื่อนแชร์แผนของเราให้ฟังด้วยก็ช่วยได้เยอะครับ


Chapter 6: Prototyping

Dysfunctional Belief: If I comprehensively research the best data for all aspects of my plan, I’ll be fine.
Reframe: I should build prototypes to explore questions about my alternatives.

Prototype ใน design thinking คือการสร้างบางอย่างมาเพื่อทดสอบว่า solution ของเราถูกต้อง prototype สำหรับการออกแบบชีวิต คือการตั้งคำถามเพื่อให้ได้ข้อมูลบางอย่างที่เราต้องการ และการ”ลอง”ใช้ชีวิตที่เรากำลังออกแบบ โดยยังไม่ได้ทุ่ม resource เยอะ สามารถล้มเหลวและปรับเปลี่ยนไปยังทางที่เวิร์คได้เร็ว (fail fast, fail forward)

ผู้เขียนยกตัวอย่างเคสของพนักงานบริษัทคนหนึ่งที่ลาออกมาเปิดร้านอาหารอิตาเลียนเพราะชอบกิน ผ่านไปสองปีไม่มีความสุขเลย เพราะทำร้านอาหารมันมีอะไรมากกว่าการกิน จะดีกว่าถ้าก่อนจะเปิดได้ลอง prototype เช่น ไปรับจัดอาหารในปาร์ตี้ หรือลองไปทำงานในร้านของคนอื่นก่อน เป็นต้น

Prototype ในการออกแบบชีวิต ทำได้ 2 แบบ:

Prototype ด้วยการสัมภาษณ์

ก็คือการสัมภาษณ์คนที่เขาอยู่ในวงการอยู่แล้ว ทำสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว ถามเขาว่าเขาไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ชีวิตแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง คนจำนวนไม่น้อยยินดีให้คำแนะนำคนอื่น

  • ข้อควรระวังคือ ต้องพยายามแสดงจุดยืนให้ชัดว่าเราไปขอคำแนะนำจริง ไม่ได้พยายามไปขอสมัครงานหรือหาผลประโยชน์จากเขา
  • โอกาสที่เขาจะยอมคุยกับเราจะมากขึ้นถ้ามี referral ว่าเราเอา contact เขามาจากใคร
  • คนที่เราสัมภาษณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นตัว top แบบ C-level ถ้าเป็นใครซักคนที่อยู่ระดับล่างลงมาแต่เข้าใจงาน ก็จะมีโอกาสมากกว่า

Prototype ด้วยการลงมือทำ

การสัมภาษณ์ก็ดี แต่จะดีกว่าถ้าเราสามารถ”ลอง”มีประสบการณ์จริง อาจโดยการขอไปติดตามดูการทำงานจริง (shadowing) หรือลองทำงานแบบ unpaid, internship

  • ถ้าเราสัมภาษณ์คนมาเยอะพอ มีโอกาสที่บางคนจะอนุญาตให้เราไปลองประสบการณ์จริงได้

Brainstorming Prototype Experience

ขั้นตอนการสร้าง prototype เริ่มต้นด้วยการ brainstorm จะดีกว่าถ้าเราสามารถหากลุ่ม 3-6 คนมาร่วม brainstorm ได้ ลองนำแผนที่อยู่ใน Odyssey plan ที่เรารู้สึกยังมีคำถามบางอย่างที่ต้องตอบ หรือมีบางอย่างที่เราไม่เช้าใจ มาเข้า brainstorm เริ่มจาก:

  1. ตั้งคำถามที่ดี: ตั้งคำถามปลายเปิด (how many ways that…?) พยายามอย่าใส่ solution ไปในคำถาม (How to make a ladder for a stockroom? — อันนี้คือตอบไปแล้วว่าจะสร้างบันได จริง ๆ อาจมีวิธีอื่น เช่น drone) อย่าตั้งคำถามที่คลุมเคลือ (จะทำยังไงถึงจะมีความสุข? — อันนี้ไม่ใช่ stage นี้)
  2. วอร์มอัพ: คือทำงานมาเหนื่อย ๆ อาจไม่พร้อมที่จะ brainstorm เท่าไหร่ มีกิจกรรมให้พักนิดนึง
  3. ลงมือ Brainstorm: มีกฎ 3 อย่าง 1) เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ 2) ไม่ตัดสิน และไม่เซนเซอร์ความคิดใคร 3) ต่อยอดไอเดียใหม่จากไอเดียของคนอื่น 4) สนับสนุนไอเดียที่บ้า
  4. สรุปผล: นำไอเดียที่มีมาจับกลุ่มเข้าด้วยกัน แล้วลองโหวตไอเดียที่น่าลองทำ prototype เช่น ไอเดียที่น่าตื่นเต้น, ไอเดียที่ไม่น่าเวิร์ค แต่ถ้ามันเวิร์คน่าจะเจ๋ง, ไอเดียที่น่าจะนำไปสู่ชีวิตที่น่าสนใจ ฯลฯ

เมื่อได้ไอเดียของ prototype ก็ลองสร้าง prototype นั้นขึ้นมาจริง ๆ สัมภาษณ์คนที่ทำอยู่ และลองสร้างประสบการณ์ตามไอเดียนั้น

ความเห็นผม

  • ผมชอบ chapter นี้นะครับ คือเรามีหนังสือสอนทำธุรกิจมากมายสอนว่าจะสร้าง product ยังไง แต่คือถึงเราสร้าง product สำเร็จ เราก็อาจจะไม่ได้มีความสุขก็ได้นะ
  • ใน Design Thinking ขั้นนี้ก็คือขั้น Prototype และ Test ซึ่งสุด process แล้ว หลังจากนี้ก็ iterate ไปเรื่อย ๆ
  • chapter หลังจากนี้จึงออกแนวความรู้เสริมมากกว่า ดังนั้นผมจะสรุปสั้น ๆ นะครับ

Chapter 7: How Not to Get a Job

ผู้เขียนอธิบายถึงปัญหาการหางานในปัจจุบัน:

  • โอกาสน้อยมาก ๆ ที่งานดี ๆ จะมาประกาศบนอินเตอร์เน็ต
  • Job Description ของงานในอินเตอร์เน็ตก็มักจะไม่ตรงกับที่บริษัทอยากได้จริง และมักจะเขียนเกินงานจริงไว้ก่อน
  • ประกาศงานจำนวนมากเป็นประกาศปลอม ทำให้มันถูกระเบียบเฉย ๆ จริง ๆ ได้คนไปแล้ว
  • Resume และ Cover Letter ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการเปิดอ่าน
  • บริษัทขนาดใหญ่ ๆ มักใช้ระบบ keyword search จากกอง resume pool เช่น ใน JD มีคำไหนที่ match บ้างกับ candidate ถ้า match เยอะก็เอาออกจาก pool มาพิจารณา เพราะงั้นเวลาเขียน resume ให้บริษัทใหญ่ ๆ พยายามใช้คำที่ตรงกับใน JD
  • แต่สิ่งเหล่านี้จะต่างออกไปในบริษัทกลุ่ม cool company (Google, Apple, Facebook,ฯลฯ) พวกนี้มี oversupply ของแรงงานอย่างมาก เพราะงั้นเขาจะไม่กลัวการ False negative (เสียคนที่เก่งไป) แต่จะกลัว False positive มาก (ได้คนที่ไม่เก่งจริงมา) Job Description ของบริษัทพวกนี้ก็จะค่อนข้างเหนือมนุษย์และมีขั้นตอนที่เคร่งครัด –> อันนี้เป็น Gravity problem เราทำอะไรไม่ได้ ถ้าอยากทำงานใน cool company เหล่านี้ ก็ต้องตามเกมเขาเท่านั้น

Chapter 8: Designing Your Dream Job

Dysfunctional Belief: My dream job is out there waiting.
Reframe: You design your dream job through a process of actively seeking and co-creating it.

ผู้เขียนบอกโลกนี้ไม่มีหรอก dream job ทุกงานมีข้อเสีย แต่มันก็มีงานดี ๆ ที่ใกล้เคียงอยู่ ซึ่งงานพวกนี้จะอยู่ใน hidden job market มันจะไม่ใช่งานที่ประกาศตามอินเตอร์เน็ต (ในสหรัฐอเมริกา งานแค่ 20% เท่านั้นที่ลงประกาศในอินเตอร์เน็ต) งานพวกนี้ เฉพาะคนใน network เท่านั้นที่จะเข้าถึง ซึ่งคนนอกไม่สามารถเข้าไปได้

ผู้เขียนแนะนำว่าวิธีเข้าไปที่ง่ายที่สุด ก็คือการทำ prototype เช่น เวลาเราไปสัมภาษณ์ คนที่เราสัมภาษณ์อาจตอบมาว่า “คุณดูสนใจงานนี้ดีนะ ผมมีตำแหน่งว่างอยู่พอดี ลองมาทำไหม” (แต่เราต้องไม่เข้าหาเขาเพื่อหางานตั้งแต่แรก) หรือไม่ก็ “เพื่อนผมกำลังหาคนทำงานนี้อยู่พอดี คุณสนใจไหม”

สรุปคืองานดี ๆ มาจาก networking

ความเห็นผม

  • networking อันนี้แหละครับยากสุด ๆ

Chapter 9: Choosing Happiness

บทนี้พูดถึงเรื่องการเลือกทางเดินชีวิต จากตัวเลือกต่าง ๆ ที่เราออกแบบไว้ เป็นเหมือนทักษะเสริมของ chapter 6

Dysfunctional Belief: To be happy, I have to make the right choice.
Reframe: There is no right choice—only good choosing.

ขั้นตอนการเลือก มี 4 ขั้นตอนคือ

ขั้นที่ 1: รวบรวมข้อมูลและสร้างทางเลือก

  • คือสิ่งที่ทำมาตลอดตั้งแต่ chapter 1

ขั้นที่ 2: ตัดทางเลือกที่มีให้เหลือน้อยลง

  • ถ้าเรามีทางเลือกมากเกินไป ก็เหมือนเราไม่มีทางเลือกอะไรเลยเพราะเราจะเลือกไม่ได้ ดังนั้นต้องตัดบางทางเลือกออก
  • ถ้าเรากำลังตัดสิ่งที่จริง ๆ แล้วสำคัญกับเรามาก ๆ ออก เราจะสามารถรู้ได้เอง เราจะมีความรู้สึกบางอย่างว่าที่ทำอยู่มันไม่ถูก

ขั้นที่ 3: เลือกอย่างรอบคอบ

  • การจะเลือกทางที่เรารู้สึกว่าใช่จริงได้ต้องอาศัยทั้งความคิด (การพิจารณาอย่างถี่ถ้วน) และความรู้สึก (ใช้สัญชาตญาณบอกว่าน่าจะถูก)
  • การที่เราจะพัฒนาการเข้าถึงความรู้สึกตนเองได้ ต้องผ่านการฝึก เช่น meditation
  • เทคนิคอย่างหนึ่งที่ช่วยในการเลือกคือ Grokking เช่น ต้องเลือกระหว่าง 3 ทาง ก็ลองใช้ชีวิตทั้งวันโดยจินตนาการว่าชีวิต ณ ตอนนั้นได้เลือกทางเลือกแรกไปแล้ว โดยไม่คิดถึงทางเลือกอื่น ๆ ทำแบบนั้น 2-3 วัน แล้วก็เปลี่ยนไปโฟกัสทางเลือกที่ 2 และ 3 ต่อไป การทำแบบนี้ช่วยให้เข้าใจความรู้สึกตนเองมากขึ้น

ขั้นที่ 4: ปล่อยมันไปและก้าวต่อไป

  • ถ้าเลือกไปแล้วไม่ต้องพิรี้พิไร เสียดายทางเลือกอื่น ๆ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามันดีที่สุดหรือเปล่าจนกว่ามันจะถึงปลายทางของมัน โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า
Dysfunctional Belief: Happiness is having it all.
Reframe: Happiness is letting go of that you don’t need

Chapter 10: Failure Immunity

Prototype ที่เราสร้างสามารถ fail ได้เสมอ แต่มันคือการ fail เพื่อให้เราเรียนรู้บางอย่าง มันคือ fail by design

Life design เป็น ongoing process ที่ต้องทำตลอดชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่ทำแล้วจะมีวันเสร็จ และในแต่ละขั้นก็จะมีความ fail เสมอ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันต่อความล้มเหลว คือล้มได้แต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ปรับปรุง แล้วไปต่อ

Dysfunctional Belief: Life is a finite game, with winners and losers.
Reframe: Like is an infinite game, with no winners and losers

Failure Reframe Exercise

เป็นการบันทึกเพื่อให้เราเรียนรู้จากความผิดพลาด ประกอบด้วย 3 อย่าง

  1. บันทึกความผิดพลาดนั้น
  2. จัดหมวดหมู่ความผิดพลาด: Screwups – สิ่งที่เราผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ แต่ปกติเราไม่พลาด พวกนี้ไม่ต้องสนก็ได้, Weaknesses – สิ่งที่เราผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะพยายามแก้ พวกนี้ก็ไม่ต้องสนมาก, Growth opportunities – ความผิดพลาดที่มีโอกาสเรียนรู้อะไรบางอย่าง
  3. เรียนรู้จากข้อผิดพลาด: บันทึกสิ่งที่เรามีโอกาสทำได้เพื่อไม่ให้เกิดอีก

พยายามบันทึกสิ่งนี้บ่อย ๆ เดือนละ 1-2 ครั้ง

ภาพจากหนังสือ Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life

Chapter 11: Building a Team

Dysfunctional Belief: It’s my life, I have to design myself.
Reframe: You live and design your life in collaboration with others.

Life design ก็เหมือนการออกแบบอื่น ๆ จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าทำเป็นทีม และทีมสามารถมีส่วนร่วมได้ในทุก process ตั้งแต่เริ่มต้น พยายามหาทีมมาร่วมใน life design project ของเรา

หา mentor ที่เป็น counselor มากกว่า advisor; สิ่งที่ต่างกันระหว่างสองกลุ่มนี้ก็คือ:

  • advisor ให้คำแนะนำโดยคิดว่าถ้าเขาเป็นเราเขาจะทำอย่างไร ซึ่งเขาไม่ใช่เรา ดังนั้นคำแนะนำมันอาจใช้ไม่ได้ เช่น “เป็นผมผมจะย้ายนะ เพราะ…”
  • counselor มักจะไม่ให้คำแนะนำ แต่ชี้ให้เราเห็นอะไรบางอย่าง “ผมไม่รู้ว่าคุณควรตัดสินใจเรื่องย้ายนี้ยังไงนะ แต่ทุกครั้งที่คุณพูดถึงประเทศจีน ตาของคุณดูมีประกายบางอย่าง ไม่รู้ว่าคุณรู้สึกตัวไหม” อะไรแบบนี้

อย่างอื่นไม่มีอะไรเท่าไหร่ครับ ผู้เขียนเชิญชวนให้เรารวมกลุ่มกัน ทำ life design ด้วยกัน แล้วก็ขยายต่อ ๆ ไปเป็น community ใหญ่ เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้มีโอกาสได้ใช้ขีวิตอย่างที่ต้องการ


Conclusion

อันนี้ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ เป็นการสรุปเนื้อหาของทุกบท และเน้นย้ำถึง mindset 5 อย่างในการทำ life design

  1. Be curious: ให้มีความสงสัยอยู่เสมอ
  2. Try stuff: เน้นการลงมือทำ สร้าง prototype มากกว่าการมโน
  3. Reframe problem: ตั้ง problem ที่ถูก ไม่งั้น solution ก็ไม่ถูก
  4. Know it’s a process: life design เป็น process ที่ทำตลอดชีวิต
  5. Ask for help: กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

และก็เน้นย้ำให้เช็คเข็มทิศอยู่เสมอ และลงมือปฏิบัติ


รีวิวโดยรวม

  • เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าดีและก็เปิดมุมมองบางอย่างครับ กิจกรรมต่าง ๆ ในหนังสือนี่ผมก็ว่าจะลองทำด้วยตนเองดูเหมือนกัน
  • จริง ๆ ไอเดีย กิจกรรมหรือ framework ต่าง ๆ ถามว่าใหม่ไหม ผมว่าก็ไม่ได้ใหม่ขนาดนั้น แต่พอมันมาอยู่ด้วยกันในธีม Design Thinking แล้วก็ต่อยอดจากกิจกรรมหนึ่งไปอีกกิจกรรมหนึ่งเรื่อย ๆ อันนี้มันก็เวิร์คดีเหมือนกันนะครับ เสียนิดตรงไม่ได้ Align ไปกับ Design Thinking เป๊ะๆ (คือไม่เชิง Empathize – Define – Ideate – Prototype – Test แต่แนวคิดหลักเดียวกัน)
  • อ่านได้ทุกเพศทุกวัย ไม่เฉพาะแค่วัยรุ่น จริง ๆ ผมว่าผู้ใหญ่นี่แหละเยอะมากที่ทุกวันนี้ก็เบื่อเหลือเกิน แต่ไม่รู้ว่าชีวิตควรจะทำอะไรดี อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าหนังสือเขียนมาสำหรับคนที่ชีวิตพอมีช่องให้หายใจอยู่บ้าง ถ้าคุณมีปัญหาหนัก ๆ แบบเงินจะกินข้าวแต่ละวันยังดิ้นรนลำบาก หนังสือก็บอกเองว่าไปหาเงินก่อนเถอะ เอาให้พอหายใจหายคอได้ก่อน
  • กิจกรรม workshop ต่าง ๆ ในเล่ม ถึงแม้จะดีก็จริง แต่ผมว่าดูเหมาะกับการทำเป็นกลุ่มมากกว่า (ผู้เขียนก็บอกเอง) ก็ใครอยากชวนเพื่อนอ่าน ชวนเพื่อนค้นหาตัวตนกันก็น่าสนนะครับ

ก็จบแล้วครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ ไว้เจอกันใหม่โอกาสหน้าครับ 🙂

Comments

  1. ขอบคุณนะคะ เดี๋ยวจะหามาอ่านบ้างค่ะ

  2. ขอบคุณมากค่ะ ประหยัดเวลาได้เยอะเลย

  3. ขอบคุณมากๆครับ ที่แบ่งปัน ความรู้ดีๆ
    Change lives, change the world 🙂

  4. ขอบคุณนะคะ ที่เสียสละเวลามอบสิ่งดีๆ ให้ค่ะ

  5. สรุปออกมาได้ดีมากค่ะ เป็นประโยชน์มาก ๆ ชอบมากค่ะ ขอบคุณที่ทำออกมา ส่วตัวอ่านหนังสือแบบนี้ไม่ค่อยได้จนจบ
    เพราะอ่านแล้วหลับทุกที มันไม่มีแรงจูงใจ แต่มานั่งอ่านเป็นข้อ ๆ แบบนี้ได้ใจความและกระชับดีค่ะ

  6. สรุปดีมากครับ ผมสามารถเอามาใช้ได้จริงเลย
    เป็นกำลังใจให้ครับ

  7. ผมอ่านเล่มเต็มมาแล้ว
    มาอ่านสรุปเข้าใจขึ้นเยอะ

  8. เยี่ยมเลยครับ สรุปดีมากๆ อ่านเล่มเต็มมันไม่ค่อยเห็นภาพรวม พอมาอ่านสรุปแล้ว กลับไปอ่านเล่มเต็มน่าจะเข้าใจง่ายขึ้นเยอะเลยครับ ขอบคุณครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *